โดย…วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด
นอกจากคำแนะนำแบบไม่เฉพาะเจาะจงให้คนอายุน้อยกับมนุษย์เงินเดือนทั่วๆ ไปแบ่งรายได้ไปลงทุนทุกเดือนให้เหมาะกับเป้าหมายของแต่ละคนแล้ว ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้พบกับผู้มีเงินสะสมแล้ว ตั้งแต่หลักสิบล้านไปจนถึงหลักร้อยล้าน ที่บ่นว่า ไม่รู้จะทำอะไรดีกับเงินที่มีอยู่ โดยที่เงินจำนวนนี้ บางคนต้องถอนมาใช้ประจำเพราะเกษียณแล้ว บางคนอายุ 40-50 ปียังมีรายได้ จึงไม่ต้องถอนมาใช้ ส่วนบางคนก็มีเงินร่วมพันล้านบาทจึงไม่ต้องกังวลเรื่องเกษียณหรือยัง แต่ไปกังวลเรื่องผลตอบแทนกับความปลอดภัยของเงินที่มีอยู่แทน
ทุกปัญหาของพวกเขา ล้วนมาจากความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และมีทีท่าว่าจะต่ำลงได้อีก เพราะเศรษฐกิจยังไม่มีทีท่าว่าจะดี โดยไม่ใช่อาการแบบหัวทิ่มทันที จากเหตุการณ์ช็อคที่พอผ่านไปไม่นานก็โงหัวขึ้นได้ แต่มันมีอาการแบบซึมลึกลงไปเรื่อยๆ จากหลายสาเหตุที่ประดังประเดกันเข้ามาทับถม ครั้นจะย้ายเงินจากตราสารหนี้ไปลงทุนในหุ้นก็ยังไม่เห็นว่าจะไปได้ดี และกลัวขาดทุนจนกินเงินต้น
สรุปก็คือ ต่างไม่ยอมรับความเสี่ยง แต่อยากได้ ทั้งความปลอดภัยของเงินต้น กับผลตอบแทนสูงๆ นั่นแหละ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้
สิ่งเหล่านี้เคยแนะนำไปแล้วหลายครั้งว่า ให้กระจายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ทางการเงินหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาฯ โครงสร้างพื้นฐาน และทองคำ ฯลฯ และให้กระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่นด้วย แต่ปัญหาก็คล้ายๆ กับประเทศอื่นๆ คือ ผู้ลงทุนมี Home Bias ยึดติดกับประเทศตนเองเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี แนวโน้ม Home Bias นี้ ก็เริ่มคลี่คลายลง เมื่อผู้ลงทุนมองเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศในปีที่ผ่านมาที่หลายๆ ตลาดหุ้นกับหุ้น IT Sector ให้ผลตอบแทนกว่า 20% เลยทีเดียว
แต่ปัญหาก็ยังตามมาอีกในปีนี้ เพราะผู้ลงทุนที่ตกรถในปีก่อนพากันถามมาว่า “แล้วปีนี้มันจะยังดีอยู่อีกไหม หรือว่า ลงทุนไปแล้วกลายเป็นเข้าที่ยอดดอย” และ “ลงทุนแล้วตอนแรกๆ มันก็ดี แต่ผ่านปีสองปีมันแย่ลง”
นี่เป็นสิ่งยืนยันว่า มีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้มีเงินมาก อดทนกับความผันผวนที่ทำให้ขาดทุนในบางช่วงไม่ได้ ยังลงทุนระยะยาวมากๆ ไม่ได้
เมื่อพิจารณาแนวโน้มทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้า กับพฤติกรรมและการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนกลุ่มนี้แล้ว จึงขอแนะนำว่านอกจากจะให้กระจายการลงทุนแล้ว ขอให้กำหนด “ความพอเพียงของตนเอง” เอาไว้ด้วย
ความพอเพียงที่ว่านี้ คือ การกำหนดผลตอบแทนเป้าหมายที่ตนเองพอใจไว้ แล้วก็ต้องขยันๆ ดูเอาเองด้วยว่าการลงทุนนั้นมันถึงเป้าหรือยัง หากถึงเป้าหมายผลตอบแทนที่ต้องการแล้วก็ถอนออกมาพักเงินในตราสารหนี้หรือเงินฝากเสีย
แล้วต้องระงับความโลภให้อยู่ด้วย ไม่ต้องไปเสียดมเสียดายหากเห็นว่า เมื่อเราถอนเงินลงทุนออกมาแล้วมันยังขึ้นไม่หยุด ซึ่งปัญหาที่จะตามมาก็คือ อยากจะกลับเข้าไปลงทุนอีก แต่ไม่รู้จะเข้าตอนไหนเพราะราคามันไปไกลแล้ว เลยต้องรอให้มีอะไรมากระแทกให้ราคามันลงมามากๆ ก่อน
ดังนั้น หากจะใช้วิธีนี้ก็ต้องทำใจล่วงหน้าว่า เราอาจพลาดได้ แต่คำตอบก็คือ เรากำหนดความพอเพียงไว้แล้ว เพื่อกันความเสี่ยงในความไม่แน่ไม่นอนของอนาคตที่มองไปปี สองปีก็ยังไม่ได้สดใสอะไรเลย ดังนั้น ต้องทำใจ
การแนะนำแบบนี้แม้ค้านกับการให้ลงทุนระยะยาว และมีความเสี่ยงสูงในการพลาดโอกาสดีๆ แต่หากใครอดทนรอคอยไม่ไหวและไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจในอนาคตช่วงข้างหน้า สิ่งที่แนะนำนี้ก็น่าจะมีประโยชน์บ้าง
นอกจากนี้ เมื่อมองเศรษฐกิจในวันข้างหน้าแล้ว คิดว่าเป็นโอกาสดีที่คนมีเงินจะสั่งสอนลูกหลานให้เห็นถึงวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่มีขึ้น มีลง มีทรง มีทรุด เพื่อให้เขาเข้าใจวงจรเศรษฐกิจ มีความเตรียมพร้อมเสมอ ไม่หลงระเริงในยามรุ่งเรือง ไม่หดหู่จนไม่คิดปรับปรุงตนเอง และโยงมาถึงการเงินในครอบครัว และขอให้เกื้อกูลคนที่ด้อยกว่า เพราะการให้คือ ความสุขอันนำมาซึ่งความปิติอิ่มเอม … เมื่อจิตใจผ่องใสเบิกบาน สุขภาพก็จะดีมาก ซึ่งสุขภาพกายใจของเรานั้นสำคัญกว่าสุขภาพทางการเงินแน่ๆ
ส่วนธุรกิจที่พอไปไหว ก็อย่าซ้ำเติมด้วยการลดลูกจ้าง ประคับประคองกันไปก่อน รวมถึงเกื้อกูล Supply Chain ดีๆ ของท่านเท่าที่จะทำได้ เพื่อจูงมือกันให้ผ่านพ้น และในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว เป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะทบทวนโมเดลธุรกิจ ปรับปรุงการปฏิบัติงานภายในซึ่งไม่มีเวลาทำในยามธุรกิจเติบโตเร็ว
สำหรับคนที่เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่เศรษฐีอะไร ก็ต้องดูแลด้านการเงินของตนเองให้ดี อย่าก่อหนี้เพิ่ม อย่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย และต้องทำงานด้วยความสามารถอย่างขยันขันแข็ง โดยแสวงหาความรู้ที่มีประโยชน์เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพราะเราต้องทำให้นายจ้างเห็นคุณค่าในตัวเราให้มากๆ หากเราไม่มีคุณค่าเขาจะให้ออกจากงานก็โทษเขาไม่ได้ นอกจากนี้ ก็ต้องเผื่อเงินสำรองยามฉุกเฉินให้มากขึ้น
นี่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีชะตากรรมร่วมกัน หากมัวแต่ทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้น ไม่ทำหน้าที่ของตน ไม่ดูแลจากหน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัวตน กิจการของตน รอแต่พึงพารัฐบาล ก็เตรียมตัวลงเหวไปด้วยกันได้เลย
ใครสายป่านสั้นก็ลงเหวไปก่อน ส่วนใครสายป่านยาวก็เก็บศพคนอื่นไป ก่อนที่จะตามไปในภายหลัง