โดย…ฐนิตา ตุมราศวิน
กองทุนบัวหลวง
COVID-19 ยกระดับความสำคัญ ESG นักลงทุนแสวงหาธุรกิจยั่งยืน
นอกจากความตื่นตัวของภาครัฐในการออกนโยบายแล้ว ความสำเร็จของนโยบายยังขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยปัจจุบัน บริษัทเอกชนหลายแห่งต่างตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนี้ ซึ่งนับเป็นเทรนด์ของธุรกิจในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ประกอบกับภายใต้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยิ่งแสดงให้เห็นว่า แนวคิด ESG มีความสำคัญต่อธุรกิจในการรับมือกับความเสี่ยงที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน อีกทั้งยังเป็นแรงจูงใจให้ธุรกิจเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งในส่วนพนักงาน คู่ค้า ลูกค้าและสังคมมากขึ้น
ในแง่ผลตอบแทนการลงทุน จากข้อมูลของ Fidelity International พบว่า การลงทุนในบริษัทสหรัฐฯ ที่มีคะแนน ESG ในเกณฑ์ดีจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า Benchmark (S&P 500) ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระหว่างเดือนก.พ.-มี.ค. 2020 ส่งผลให้นักลงทุนหันมาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในธุรกิจที่มุ่งเน้นหลักการ ESG มากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว เห็นได้จากการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้กองทุนหุ้น ESG ทั่วโลกที่แตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เป็นครั้งแรก (จากข้อมูลของ Morningstar) หลังมีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาส 2/2020 โดยเป็นการลงทุนในยุโรปถึงกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นด้วยอีกทางเพื่อดึงดูดเงินลงทุน
นอกจากบทบาทของ ESG ในตลาดหุ้นแล้ว แนวคิดดังกล่าวยังส่งผ่านไปถึงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น “กรีนบอนด์” (Green Bond) แม้คำนี้อาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคยนักในประเทศไทย แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว ตลาดกรีนบอนด์นับว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา โดยกรีนบอนด์มีคุณลักษณะเหมือนกับตราสารหนี้ทั่วไป แต่ต่างกันตรงที่เงินที่ได้จากการระดมทุนต้องนำไปลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพลังงานสะอาด การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม หรือการปรับปรุงอาคารเก่าให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน เป็นต้น สำหรับในเอเชีย จีนนับเป็นประเทศที่ออกกรีนบอนด์มากที่สุดและเป็นอันดับ 2 ของโลก มูลค่ารวม 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2019 ส่วนประเทศในอาเซียนก็หันมาให้ความสนใจกับการระดมทุนในลักษณะนี้มากขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน ทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมไปถึงไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น ภาคเอกชนออกกรีนบอนด์มาแล้วราว 2-3 ปี และในปีนี้เราได้เริ่มเห็นโมเมนตัมการขยายตัวของการออกกรีนบอนด์ของภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เบาบางลง รวมไปถึงตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนด้วย ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมานับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทยในการเสนอขายกรีนบอนด์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ความสำเร็จของการเสนอขายกรีนบอนด์ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จากมูลค่าจองซื้อที่สูงกว่าจำนวนที่เสนอขาย สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของตลาดกรีนบอนด์ในไทย ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า กระทรวงการคลังยังมีแผนที่จะออกพันธบัตรสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการออกพันธบัตรดังกล่าวด้วย นำร่องในปีนี้โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งธ.ก.ส. มีแผนออกกรีนบอนด์ช่วงปี 2020-2024 รวม 20,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มจากในปีนี้ที่จะระดมทุนเพื่อใช้ในการสร้างพื้นที่ป่าผ่านโครงการสินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ สินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน สินเชื่อ Green Credit สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย และสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด ในขณะที่ กคช. ก็มีแผนจะออกพันธบัตรเพื่อใช้สร้างที่อยู่ให้ประชาชน
โดยสรุป ปัญหาโลกร้อนและวิกฤติทางธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันดูจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงประเด็นนี้และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันมาโดยตลอด แต่อาจยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เรามองว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นับเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แนวคิดของผู้คน และนำไปสู่เทรนด์การดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เน้นความยั่งยืนและให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ภายใต้การสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่ให้กับบริษัทที่ใส่ใจสังคม มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางในการดำเนินงานเช่นนี้ นับเป็นอีกทางเลือกของนักลงทุนที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงจากความผันผวน ควบคู่กับการได้มีส่วนร่วมในการทำให้โลกและสังคมดีขึ้น