จีนเข้าใจยุทธศาสตร์ของสงครามการเงินของสหรัฐเป็นอย่างดี และรู้ดีว่ามันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สักวันหนึ่งที่จีนจะต้องปลดแอกจากอิทธิพลของดอลล่าร์ มิเช่นนั้นแล้ว จีนจะต้องตกเป็นเบี้ยล่างตลอดไปเหมือนกับญี่ปุ่นที่ยอมเป็นเบี้ยล่างสหรัฐ
ผู้ที่อธิบายยุทธศาสตร์ของสงครามการเงินของสหรัฐได้ดีที่สุดคือ พลตรี Qiao Liang นักยุทธศาสตร์ชั้นแนวหน้าของจีน เนื้อหาที่เขาเขียนมีดังนี้:
ในปี 2015 ในระหว่างการประชุมของคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ เขาได้นำเสนอผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้ยุทธศาสตร์ของสงครามการเงินของสหรัฐในการทำลายประเทศต่างๆ โดยใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการที่ดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก
Qiaoอธิบายว่า สหรัฐอเมริกาใช้ดอลล่าร์เพื่อที่จะบริหารการค้าและการเงินภายนอกเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง สหรัฐส่งออกดอลล่าร์และเครดิตในรูปดอลล่าร์ให้โลกใช้ ด้วยวิธีการนี้ สหรัฐสร้างความร่ำรวยให้กับรัฐบาลของตัวเองและแบงก์อเมริกันทั้งหลาย ดอลล่าร์มีบทบาทสำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากดอลล่าร์ไม่ได้ผูกติดกับค่าของทองคำ สหรัฐสามารถที่จะสร้างวัฎจักรของเศรษฐกิจที่บูมและล่มสลายให้ประเทศต่างๆที่ใช้ดอลล่าร์ได้
เนื่องจากสหรัฐมีการพิมพ์ดอลล่าร์ออกมาเป็นจำนวนมาก เพราะว่าไม่มีระบบมาตรฐานทองคำมาเป็นข้อจำกัดให้มีวินัยทางการเงิน ทำให้มีโอกาสเกิดเงินเฟ้อ สหรัฐเลี่ยงการสร้างเงินเฟ้อด้วยการปล่อยให้ดอลล่าร์ไหลไปหมุนเวียนในตลาดต่างประเทศ ในขณะเดียวกันสหรัฐต้องพยายามไม่พิมพ์ดอลล่าร์มากเกินควร เพราะว่าจะทำให้ดอลล่าร์อ่อนค่า หมดความน่าเชื่อถือ
แล้วสหรัฐจะแก้ปัญหาการขาดแคลนดอลล่าร์ได้อย่างไร เมื่อไม่มีดอลล่าร์เพียงพอที่จะหมุนเวียนในเศรษฐกิจ?
สหรัฐแก้ปัญหาดอลล่าร์ขาดแคลนด้วยการออกพันธบัตรเพื่อสร้างหนี้ และดูดเงินดอลล่าร์กลับเข้าประเทศ ด้วยวิธีการนี้ สหรัฐเล่นเกมการเงินที่มือซ้ายพิมพ์ดอลล่าร์ ส่วนมือขวายืมเงินดอลล่าร์กลับคืนมา การพิมพ์เงินสร้างกำไร การยืมเงินได้กำไรเหมือนกัน เศรษฐกิจการเงินของการใช้เงินเพื่อสร้างเงินง่ายกว่าการที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจที่อิงการผลิตอุตสาหกรรม
สหรัฐเลือกที่จะไม่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการผลิตในระบบอุตสาหกรรม แต่เลือกที่จะเล่นการเงินมากกว่า เพราะคิดว่าสามารถคอนโทรลทุกอย่างได้ เนื่องจากมีแสนยานุภาพทางทหารคอยค้ำจุนอีกที
ตั้งแต่วันที่15 สิงหาคมปีคศ 1971 หลังจากการยกเลิกมาตรฐานทองคำ สหรัฐได้ค่อยๆหยุดพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง และมุ่งหน้าเข้าสู่เศรษฐกิจเวอร์ซ่วล (virtual economy)แทน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐกลวง ตามตัวเลขแล้ว จีดีพีของสหรัฐอยู่ที่$18ล้านล้าน แต่มีเพียง$5ล้านล้านมาจากเศรษฐกิจที่แท้จริง (real economy) ที่เหลือเป็นเศรษฐของเครดิต
จากการออกพันธบัตร สหรัฐสามารถนำเอาดอลล่าร์ที่หมุนเวียนในตลาดต่างประเทศกลับมายังประเทศได้ โดยดอลล่าร์นั้นกลับเข้าไปอยู่ใน3 ตลาดใหญ่คือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตลาดหุ้น สหรัฐสร้างวงจรซ้ำไปซ้ำมาของการหมุนเวียนของดอลล่าร์ ด้วยการพิมพ์ดอลล่าร์ ส่งออกดอลล่าร์ไปยังตลาดต่างประเทศ และนำดอลล่าร์กลับเข้ามาในประเทศ ด้วยวิธีการนี้ สหรัฐกลายเป็นจักรวรรดิทางการเงิน
เมื่อเป็นจักรวรรดิทางการเงิน สหรัฐก็ก่อสงครามทางการเงินเป็นหลักเพื่อรักษาสถานภาพของตัวเอง หรือสร้างความร่ำรวยให้จักรวรรดิ
ในทศวรรษที่1970s สหรัฐใช้ดอลล่าร์เพื่อสร้างภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในลาตินอเมริกา ธนาคารของสหรัฐมีการปล่อยเงินกู้ในรูปดอลล่าร์ในช่วงที่ดอลล่าร์มีค่าอ่อน ดอกเบี้ยถูกให้บรรดาประเทศต่างๆในลาตินอเมริกาเพื่อบริโภคเกินควร หลังจากนั้น สหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเพื่อทำให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้การลงทุนดอลล่าร์ในทรัพย์สินที่เสี่ยงต่างๆไหลเข้าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแทน เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีความเสี่ยง
การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อทำให้ดอลล่าร์แข็งค่านี้เองก่อให้เกิดวิกฤติการทางการเงินของลาตินอเมริกา เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาล่มสลายจากภาวะหนี้สินที่ล้นพ้น พวกนักลงทุนอเมริกันเข้าไปซื้อทรัพย์สินราคาถูกๆในตลาดลาตินอเมริกา โดยที่สหรัฐให้รัฐบาลของประเทศลาตินอเมริกาได้มีโอกาสต่อท่อหายใจด้วยการออกพันธบัตรแบรดี้ (Brady Bond)ที่สหรัฐช่วยอุ้ม นั้นคือวงจรรอบแรกของการใช้ดอลล่าร์เพื่อทำลายประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ลาตินอเมริกาเป็นเป้า
วงจรรอบ2ของการทำลายคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ประเทศไทยโดนร่างแหไปด้วย
ในปี1986 ดอลล่าร์อยู่ในวงจรขาลงที่อ่อนตัวลง มีการปล่อยให้กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เปิดเสรีทางการเงินให้กู้ดอลล่าร์ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยของเงินสกุลท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจบูม มีการลงทุนและการบริโภคที่เกินตัว ตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นฟองสบู่ สถาบันการเงินปล่อยกู้เกินตัว
นับจากปี1995เป็นต้นไป ดอลล่าร์เข้าสู่วงจรขาขึ้น ดอลล่าร์มีค่าแข็งขึ้นทำให้เกิดการโจมตีเงินบาทของไทยในช่วงปลายปี1996-1997 ก่อนที่วิกฤติการอัตราแลกเปลี่ยนจะกระจายไปยังมาเลย์เซีย อินโดเนเซีย เกาหลีใต้และประเทศเกิดใหม่อื่นๆ เศรษฐกิจที่เป็นเสือของเอเชียกลายเป็นแมวเชื่องจากการสร้าง และทำลายของวัฎจักรดอลล่าร์
ประเทศไทยเราเจอต้มยำกุ้ง เงินดอลล่าร์ไหลออกอย่างรวดเร็ว เงินบาทตกน่ำอย่างรุนแรง ทำให้ประเทศมีฐานะล้มละลายทางการเงินเข้าโปรแกรมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยที่สาเหตุไม่ได้มาจากความผิดของไทยหรือประเทศเหล่านั้นเลยทีเดียว แต่มาจากการกู้ยืมและการใช้ดอลล่าร์เกินตัวในการลงทุน
หลังจากนั้นนักลงทุนอเมริกัน หรือต่างชาติก็เข้ามาช็อปของถูก และบีบให้ไทยและประเทศที่ประสบกับวิกฤติเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเงินให้กว้างขึ้นเพื่อความอยู่รอด
วงจรที่3ของการใช้ดอลล่าร์เพื่อทำลายมีจีนเป็นเป้าใหญ่ ดอลล่าร์อ่อนตัวลงในปี2002 เพื่อล่อให้เหยื่อหรือประเทศต่างๆเสพดอลล่าร์ถูกๆ หรือการปล่อยเครดิตในรูปดอลล่าร์ให้มีการบริโภคเกินควร ดอลล่าร์ไหลเข้าตลาดจีนเป็นจำนวนมาก ในปี2012 ดอลล่าร์เข้าสู่วงจรขาขึ้น เปิดโอกาสให้สหรัฐทำลายเศรษฐกิจของจีน
ในช่วงที่ดอลล่าร์แข็งตัว ปรากฎว่ามีการปั่นความขัดแย้งระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติหมู่เกาะเซนกากุ หรือวิกฤติความขัดแย้งระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ในแนวปะการัง Scaborough Shoal เพื่อที่จะสร้างเหตุให้นักลงทุนเททิ้งทรัพย์สินอื่นๆเพื่อกลับไปถือดอลล่าร์ หรือทำให้ดัชนีดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น
ฟองสบู่การเงินของจีนแตกในเดือนมิถุนายนปี2015 เมื่อนักลงทุนทิ้งตลาดหุ้น ทำให้คนจีนขาดทุนในตลาดหุ้นมาก จอร์จ โซรอส และนักการเงินของโลกตะวันตก รวมทั้งสื่อกระแสหลักทั่วโลกออกข่าว หรือให้ความเห็นเชิงวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า จีนจะไม่สามารถรักษาค่าเงินหยวนให้มีเสถียรภาพได้ จีนจำต้องลดค่าเงินอย่างน้อย30% เศรษฐกิจจีนจะประสบกับภาวะฮาร์ดแลนดิ้ง
แต่จีนสามารถยืนหยัดได้ เศรษฐกิจและการเงินไม่ได้เสียหายอะไรมาก จีนมีการฟืนตัวอย่างรวดเร็ว เพราะว่าจีนมองการณ์ไกล ไม่ปล่อยเสรีเงินหยวน และภาคการธนาคารอยู่ในมือของรัฐบาล ทั้ง2กลไกนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลเสถียรภาพทางระบบการเงิน เมื่อรัฐบาลดูแลเงินหยวนในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่ปล่อยให้หยวนลอยตัว และธนาคารพานิชย์จีนอยู่ในการดูแลของรัฐบาล ทำให้จีนสามารถก้าวผ่านวิกฤติการไซเกิ้ลของดอลล่าร์ที่แข็งค่าได้
ถ้าหากเป็นตลาดเกิดใหม่ประเทศอื่นๆที่เปิดเสรีการเคลื่อนย้ายของเงินทุน ปล่อยให้ค่าเงินลอยตัว และปล่อยให้ต่างชาติคุมระบบธนาคาร คงจะต้องประสบกับความเสียงหายทางการเงินอย่างรุนแรง และต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจไปในที่สุด
คำถามต่อไปคือ จีนจะทำอย่างไรเพื่อที่จะหลุดพ้นจากอิทธิพลของวัฏจักรของดอลล่าร์อ่อนตัวที่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่การเงิน ดอลล่าร์แข็งค่าที่สร้างวิกฤติการเงิน? ถ้าหากว่าจีนยังคงเล่นเกมดอลล่าร์เหมือนเดิม จีนจะประสบกับความพ่ายแพ้ทางการเงินในที่สุด เพราะว่าสหรัฐสามารถพิมพ์ดอลล่าร์ได้ไม่อั้น วิกฤติการทางการเงินจะนำไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเมืองตามมา ถ้าหากว่าคนจีน1,300ล้านคนเจอวิกฤติทางเศรษฐกิจ จะเกิดอะไรขึ้นกับเสถียรภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ หรือรัฐบาลจีน
ด้วยเหตุนี้นโยบายหยวนจึงเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุดของจีน ไม่แพ้นโยบายการเมืองที่คุมเข้มในระบอบสังคมนิยมที่มีความเป็นจีนเฉพาะตัวนโยบายเศรษฐกิจที่กึ่งทุนนิยมกึ่งรัฐบาลนำ และนโยบายการเงินที่เป็นอิสระจากวัฏจักรดอลล่าร์