เวลานี้ ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัดการสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ขณะที่นักลงทุนก็มองหาโอกาสลงทุนในบริษัทเหล่านี้ เพื่อรับโอกาสที่เงินลงทุนจะเติบโตได้ในระยะยาวไปกับเทรนด์ใหญ่ของโลก ซึ่งล่าสุดกองทุนบัวหลวงก็มีผลิตภัณฑ์ที่มาตอบโจทย์นี้ให้นักลงทุน โดยจะเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน หรือ B-SIP ระหว่างวันที่ 1-8 มีนาคม 2564 ที่สาขาธนาคารกรุงเทพ และในวันนี้ คุณเสกสรร โตวิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Product Management กองทุนบัวหลวง จะมาเล่ารายละเอียดของกองทุนนี้ให้ฟังกัน
Q : แนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Investment มีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร
A : เป็นแนวคิดที่มีการผสมผสานกัน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ กระบวนการลงทุน การหาธุรกิจ และก็มุมมองการเติบโต เพื่อเรื่องของผลตอบแทน แต่ว่าจะมีการผนวกเรื่องการจัดการการดำเนินงานเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเข้าไปด้วย
สิ่งเหล่านี้จะทำให้รูปแบบการลงทุนมีการคัดเลือกกลุ่มหุ้นขึ้นมาเฉพาะกลุ่มหนึ่ง และเราก็คาดหวังการเติบโต เพราะเราเชื่อว่าบริษัทต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้คือบริษัทที่จริงใจกับผู้ลงทุน และมีโอกาสเติบโต สร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ เพราะฉะนั้นผลของการลงทุนแบบนี้ น่าจะทำให้เกิดผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากการลงทุน ผนวกกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม หรือว่าลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมด้วย
Q : แนวคิดนี้เป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะหลายประเทศมีนโยบายสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม และการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือไม่
A : เรื่องนี้เราทราบกันดี เราไม่ต้องถกเถียงกันว่าการสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดมลพิษเป็นเรื่องดีหรือไม่ แต่หลายประเทศแสดงความจริงใจและก็มีความชัดเจนกันมากขึ้น อย่างเช่น ประเทศสหรัฐฯ นโยบายในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
อีกประเด็นที่ชัดเจนคือ การประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือยุโรป ที่ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2050 จะลดให้เป็นศูนย์
ส่วนจีนเองซึ่งเป็นประเทศใหญ่และมีจำนวนประชากร จำนวนเมืองมาก แม้การจัดการเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จีนเองก็มีเป้าหมายเหมือนกันในปี 2060 และในระยะสั้นแผน 5 ปีของจีน (2021-2025) จีนก็ตั้งเป้าหมายจะดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็อยู่ในแผนนโยบาย ซึ่งน่าจะเกิดผลเป็นรูปธรรมในระยะสั้นด้วย จะเห็นได้ว่าทุกๆ ประเทศให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก
Q : จุดเปลี่ยนที่ทำให้มีคนให้มาสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เป็นเพราะมีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ต้นทุนลดลงด้วยหรือไม่
A : ใช่แล้ว ถ้าเราพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นสิ่งที่เห็นภาพได้ง่ายที่สุด อย่างเรื่องของพลังงานหมุนเวียน เรามีการพูดถึงพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมมานานแล้ว แต่ทำไมเราเพิ่งมาเห็นการดำเนินการอย่างจริงจังในระยะหลัง เนื่องจากเรื่องพวกนี้แต่เดิมต้นทุนสูง เพราะถึงแม้ว่าการได้มาซึ่งพลังงานจะมีต้นทุนต่ำ เพราะเป็นเรื่องของแดด หรือลม แต่ว่าหลายประเทศก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีอุปสรรคด้านสภาพแวดล้อม หรือภูมิอากาศไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ ยุโรป สามารถทำเรื่องพลังงานลมได้ดี แต่เพิ่งมาบูม เพราะเรื่องต้นทุน โดยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ทำให้ต้นทุนของพลังงานแสงแดด และพลังงานลมลดลงอย่างมาก เช่น พลังงานแสงแดด ต้นทุนลดลงประมาณ 80% ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ส่วนพลังงานลม ต้นทุนลดลงประมาณ 40% ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา หรือว่าเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อพูดถึงแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ ต้นทุนของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ลดลง 80-88% ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นกระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้าบูมมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดิมทีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเหล่านี้ มีแนวคิดที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เดิมอาจจะเป็นไปได้ยากเพราะต้นทุนสูง เมื่อต้นทุนลดลงมาจนกระทั่งปัจจุบันเพราะมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญ ก็ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และก็ทำให้กระบวนการลงทุนอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นในช่วงหลังเช่นกัน
Q : กองทุนบัวหลวงก็เล็งเห็นความสำคัญของการลงทุนอย่างยั่งยืน จึงเตรียมออกกองทุนประเภทนี้ใช่หรือไม่
A: เราจะจัดตั้งกองทุนขึ้นมากองหนึ่งเพื่อลงทุนในต่างประเทศ ชื่อ กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน หรือ Bualuang Sustainable Investing Portfolio (B-SIP) โดยกองทุนนี้จะจดทะเบียนเป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds) ที่จะไปลงทุนผ่านหน่วยลงทุนของกองทุนที่บริหารโดย Pictet Asset Management ซึ่งเป็น บลจ.ชั้นนำด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน
Fund of Funds ที่เราเลือก โมเดลเบื้องต้นจะเลือกกองทุน theme หลักก่อนเป็นกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมในภาพใหญ่ ซึ่งจะเป็นกองทุน Pictet – Global Environmental Opportunities แล้วก็จะมีการคัดเลือก theme ลงทุนย่อย ซึ่งกองทุนที่เราคัดเลือกเป็น theme ย่อยเวลานี้คือ กองทุน Pictet – Clean Energy ที่มุ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสะอาด การใช้พลังงานหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน โดยการลงทุนใน theme หลักจะมีสัดส่วนประมาณ 75% และ theme ย่อยอีก 25% ในช่วงต้น
Q : การลงทุนของกองทุนต่างๆ ที่เราเลือก จะมีการกระจายลงทุนอย่างไรบ้าง
A : ถ้าเราดูกองทุน Pictet – Global Environmental Opportunities ซึ่งเป็นกองหลักก็จะมีการลงทุนในแนวคิดหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อม การสร้างผลบวกทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainable) โดยถ้าดูตามพอร์ต ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 จะพบว่า กองทุน Pictet – Global Environmental Opportunities จะมีการลงทุนในบริษัทหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษ 14% การจัดการทรัพยากรน้ำ 13% การรักษาป่าและการเกษตรแบบยั่งยืน 6% พลังงานหมุนเวียน14% และยานยนต์ไฟฟ้า 5%
เมื่อไปดูกองทุน Pictet – Clean Energy ที่เราเลือกเสริมมา กองทุนนี้จะให้น้ำหนักกับการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนชัดเจน 40% แล้วก็มีเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า 31%
Q : กองทุนที่เราไปลงทุนแบบ Fund of Funds ครอบคลุมเกือบทุกส่วนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใช่หรือไม่
A : ใช่แล้ว บริษัทที่เข้าไปลงทุนมีทั้งที่ดำเนินการเรื่องดูแลสิ่งแวดล้อมโดยตรง หรือบริษัทที่ประกอบกิจการแล้วสามารถลดการใช้พลังงาน ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองได้ อย่างเช่น บริษัทที่ทำซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการทำโมเดลจำลองต่างๆ ซึ่งทำให้ธุรกิจไม่ต้องไปสร้างของจริงขึ้นมาก่อน ก็เท่ากับเราได้ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ก็อยู่ในแนวคิดที่กองทุนนี้ลงทุนได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้นไม่ได้บอกว่ากองทุนลักษณะนี้จะต้องลงทุนแค่ พลังงานลม พลังงานน้ำ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพราะจริงๆ แล้ว สามารถลงทุนได้หลากหลาย แม้แต่บริษัทที่ออกแบบอาคาร ก่อสร้างตึก การดูแลลดการใช้ทรัพยากร ออกแบบอาคารสีเขียว ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็อยู่ในขอบข่ายการลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ลดต้นทุนของอาคารในอนาคต ลดก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็อยู่ในขอบข่ายที่กองทุนนี้จะลงทุนได้เช่นกัน เพียงแต่หลายๆ บริษัทอาจจะมีชื่อไม่คุ้นหูเราเท่าไหร่นัก เพราะว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีเชิงลึก ซึ่งในต่างประเทศได้รับความนิยมมาก