ที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนผูกติดกับดอลลาร์เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับเงินหยวนที่ตลาดการเงินไม่ยอมรับ เพราะว่าจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ไม่ได้มีการเปิดประเทศอย่างเต็มที่ เศรษฐกิจจีนไม่ได้เปิดเสรีเหมือนของเศรษฐกิจของโลกตะวันตก การผูกหยวนกับดอลลาร์ทำให้จีนมีความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก เพราะว่าจีนสามารถปรับค่าให้อ่อนได้ตามที่ต้องการ โดยที่ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวน้อยมากในแต่ละวัน
เวลาส่งออกได้เงินดอลลาร์มา จีนเอาดอลลาร์ไปลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐ และเอาดอลลาร์สหรัฐกลับมาหนุนค่าเงินหยวนให้มีความเชื่อมั่นอีกต่อหนึ่ง
จีนเดินตามเส้นทางนโยบายการเงินของประเทศเกิดใหม่ทุกประเทศที่ผูกค่าเงินกับดอลลาร์ เพื่อหนุนการส่งออก ได้ดอลลาร์มาก็ซื้อพันธบัตรสหรัฐเพื่อเก็บเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สหรัฐยินดีเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าสามารถที่จะรีไซเกิ้ลเงินดอลลาร์กลับมาไฟแนนซ์การบริโภคที่เกินตัวของรัฐบาล รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐบูมจากการที่มีเงินดอลลาร์ไหลกลับเข้ามาในประเทศ โดยที่ไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อมากจนเกินไป เพราะว่าธนาคารกลางสหรัฐไม่จำเป็นต้องพิมพ์เงินมากเกินไปนั้นเอง
จีนมองเห็นในอนาคตว่าเมื่อถึงเวลาจะปลดแอกอิทธิพลของดอลลาร์ มิเช่นนั้นจะถูกสหรัฐใช้ดอลลาร์เพื่อทำให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง ด้วยเหตุนี้จีนจึงมีการซื้อทองเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง
นาย Alistair MacLeod นักวิเคราะห์จาก Goldmoney Wealth คาดการว่า ประชาชนจีนน่าจะถือทองคำอยู่รวมกันประมาณ 12,000-14,000 ตัน หลังจากที่จีนมีนโยบายสนับสนุนให้มีการสะสมทองตั้งแต่ปี 2002 ส่วนรัฐบาลจีนเองน่าจะมีทองคำสำรอง 20,000 ตัน เทียบกับ 8,113 ตันของสหรัฐ โดยที่จีนเริ่มตุนทองคำอย่างเงียบๆตั้งแต่ปี 1983 ทำให้ตัวเลขเฉลี่ยที่ทางการจีนมีการซื้อทองเข้ามาประมาณ 600 ตันต่อปี โดยซื้อในราคาที่ถูกกว่าระดับปัจจุบันมาก
การซื้อทองคำของจีนเป็นไปเพื่อสร้างเสถียรภาพ และความมั่นใจให้เงินหยวนในอนาคต เมื่อจีนเลิกผูกค่าเงินหยวนกับดอลลาร์ แต่จะมาอิงกับทองคำแทน
นาย MacLeod เขียนอธิบายว่า สหรัฐล้มระบบมาตรฐานทองคำในปี 1971 โดยเลิกผูกดอลลาร์กับทอง ทำให้สหรัฐพิมพ์เงินเป็นว่าเล่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดอลลาร์ที่ไหลไปทั่วโลกเป็นตัวแทนของอำนาจทางการเงินที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐ แต่จีนน่าจะกลับมาใช้ระบบมาตรฐานทองคำด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งอีกครั้ง เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างจากดอลลาร์กระดาษที่พิมพ์ออกมาเปล่าๆ โดยไม่มีทรัพย์สินอะไรหนุนหลัง
หลังจากที่จีนมีทองคำสำรองเพียงพอแล้ว จีนได้สร้างตลาดทองผ่าน Shanghai Gold Exchange เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนทอง โดยให้มีการโค๊ดราคาทองในตลาดฟิวเจอร์สเป็นเงินหยวน โดยปกติแล้วทองจะโค๊ดเป็นดอลล่าร์ หลังจากที่สร้างราคาทองด้วยสัญญาล่วงหน้าฟิวเจอร์สแล้ว จีนจะสร้างสัญญาฟิวเจอร์สซื้อขายน้ำมันเป็นเงินหยวนเหมือนกัน อย่าลืมว่าทองและน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความสำคัญที่สุดในการค้าขายและระบบการเงินโลก ด้วยวิธีการนี้ เทรดเดอร์ต่างประเทศสามารถขายเงินหยวนในตลาดล่วงหน้าเพื่อซื้อทองได้ ทำให้เกิดความน่าดึงดูดใจต่อไปที่จะใช้หยวนในการทำการค้าระหว่างประเทศ แทนที่จะใช้ดอลลาร์ เมื่อสัญญาน้ำมันเป็นเงินหยวนได้เปิดตัว ผู้นำเข้าน้ำมันจะใช้สัญญาซื้อขายหยวนเพื่อขายน้ำมันเพื่อแลกทอง
นาย MacLeod เขียนอธิบายว่า จีนเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนการกำหนดราคาน้ำมันเป็นค่าของทองแทนที่จะเป็นดอลลาร์ เมื่อจีนลั่นไก การเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินจะเกิดขึ้น โดยที่จีนจะต้องขายดอลลาร์รีเสิร์ฟแลกกับสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เมื่อราคาน้ำมันได้รับการตกลงกันเป็นทองผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้า สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆจะตามมา
พวกอเมริกันไม่ได้แปลกใจว่ากำลังจะถูกจีนเช็คเมทในกระดานหมากรุกทางภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อจีนเปลี่ยนระบบค้าทอง และสินค้าโภคภัณฑ์ได้แล้วราคาทองที่เป็นดอลลาร์จะพุ่งขึ้นสูง ซึ่งเป็นการสะท้อนอำนาจซื้อที่ลดลงของดอลลาร์ และนั้นจะเป็นการสิ้นสุดของสิทธิพิเศษของดอลล่าร์ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 1971 และอาจจะถือได้ว่าเป็นการก่อหวอดเพื่อลดอิทธิพลดอลลาร์กระดาษ
แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น ทรัมป์ถูกวางตัวให้ขัดขวางจีนทุกอย่างไม่ให้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ สงครามทางการเงินและเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนจึงดำเนินอยู่ในเชิงลึก