ในขณะนี้เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ประสบกับปัญหาเงินเฟ้อกระจุยกระจายหนักที่สุด จนประธานาธิบดี Nicolas Maduro ประกาศขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำในวันแรงงานสากลถึง 60% ท่ามกลางภาวะวิกฤติเงินเฟ้อ 500% ปรากฎการณ์เงินเฟ้อของเวเนซุเอลาทำให้ประชาชนทั่วไปยากจนขึ้นทันที ทั้งนี้เนื่องจากเงินเฟ้อทำให้ค่าเงิน bolivares เสื่อมลง เมื่อค่าเงินเสื่อมลง อำนาจซื้อของประชาชนก็ลดลง ในขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาหลายรอบแล้ว แต่อัตราค่าแรงที่สูงขึ้นยังวิ่งตามไม่ทันเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากการบริหารการเงินของรัฐบาลและธนาคารกลางที่ผิดพลาด โดยใช้จ่ายเกินตัว หรือไม่มีวินัยทางการเงินการคลัง เมื่อรัฐบาลไม่มีเงินพอจะใช้จ่าย ก็กู้หนี้จนเกินตัว เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้ต้องพิมพ์เงินเพื่อจ่ายหนี้ ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นสาเหตุหลักของเงินเฟ้อ
ซิมบับเวเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบกับปัญหาเงินเฟ้อสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินโลก ไม่มีใครรู้ว่าเงินเฟ้อของซิมบับเวอยู่ในอัตราเท่าใด เพราะตัวเลขสูงมหาศาล แต่คาดการณ์ว่าในกลางเดือนพฤศจิกายนปี 2008 เงินเฟ้อซิมบับเวอยู่ที่ราว 79,600,000% เงินซิมบับเวกลายเป็นกระดาษไปเลย เนื่องจากรัฐบาลพิมพ์เงินกันอย่างหูดับตับไหม้ และในปี 2009 รัฐบาลซิมบับเวต้องหยุดพิมพ์เงินของประเทศ แล้วหันไปใช้เงินสกุลต่างชาติแทน ในปี 2015 รัฐบาลซิมบับเวเริ่มใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแทนสกุลเงินของตัวเอง ซึ่งไม่หลงเหลือความน่าเชื่อถือใดๆ อีกต่อไป
ในระหว่างปี 1921-1924 สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) หรือเยอรมนี ประสบกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงเหมือนกัน เนื่องจากเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้กับฝ่ายพันธมิตรผู้ชนะสงคราม รัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ธนาคารกลางเยอรมนีพิมพ์เงินออกมาเพื่อไฟแนนซ์ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล จนเกิดเงินเฟ้อ เมื่อเกิดความแตกตื่นขึ้น คนก็ทิ้งเงินมาร์คทำให้ค่าเงินยิ่งตกหนัก จนเอาไม่อยู่ เงินเฟ้อของไวมาร์รุนแรงมากจนกระทั่ง 1 ดอลลาร์สหรัฐแลกได้ 4,210,500,000,000 มาร์ค
บทเรียนของเงินเฟ้อทำให้รัฐบาลต้องระมัดระวังรักษาวินัยทางการเงินการคลังให้ดี ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่เพิ่งประกาศล่าสุด ระบุว่าเงินเฟ้อของไทยในเดือนเมษายนอยู่ที่ 0.38% ส่งผลให้เงินเฟ้อใน 4 เดือนแรกของปีอยู่ที่1.03% โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ 1.5-2.2%
ตามที่กล่าวมาแล้ว เงินเฟ้อเป็นตัวทำลายค่าเงิน ทำให้อำนาจซื้อลดลง เพื่อปกป้องความมั่งคั่งให้ไม่ให้ถดถอย เราต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เงินเฟ้อทำค่าเงินให้เสื่อม วิธีป้องกันก็คือลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ เพราะหากปล่อยเงินให้อยู่ในแบงก์ รอรับดอกเบี้ย 1-2% ผลที่ตามมาก็คือ ค่าของเงินจะเสื่อมลง เพราะถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนไปเรื่อยๆ
ทนง ขันทอง
กองทุนบัวหลวง