Angus Maddison นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของอังกฤษ มีชื่อเสียงขึ้นมา เพราะว่าเขาได้ศึกษาผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของโลก (gross domestic product) โดยย้อนการศึกษาของจีดีพีโลกกลับไปถึงศตวรรษที่1
การศึกษาของแมดดิสันทำให้เราเห็นภาพว่าทั้งจีนและอินเดียมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากที่สุดอย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่1 เรื่อยมาจนถึงปีคศ. 1600 ก่อนที่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศค่อยๆเสื่อมลง ซึ่งตรงกับยุคแรกเริ่มของการล่าอาณานิยมของโลกตะวันตกพอดี จีนและอินเดียตกขบวนรถไฟของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีจุดเริ่มที่อังกฤษก่อนที่จะแพร่เข้าไปในยุโรป ทำให้ยุโรปก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกแทนจีนและอินเดีย อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 นี้ เราเริ่มเห็นจีนและอินเดียกำลังทวงความเป็นมหาอำนาจของโลกทางเศรษฐกิจแทนสหรัฐและยุโรป
จากการคำนวนของแมดดิสันพบว่า ในปีคศ 1000 จีนและอินเดียมีจีดีพีรวมกันเท่ากับ 50.5% ของจีดีพีของโลก มาถึงปีคศ.1600 เศรษฐกิจของจีนและอินเดีย รวมกันมีสัดส่วนเท่ากับ 51.4% ของโลก โดยจีนมีสัดส่วนจีดีพี 29% และอินเดียมีสัดส่วนจีดีพี 22.4%ของโลก
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เศรษฐกิจของจีนเทียบเท่า 1 ใน 3 ของโลก ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐยังคงตั้งไข่อยู่ อีก 200 ปีต่อมา ในขณะที่จีนได้สร้างชาติใหม่ภายใต้ประธานเหมา เจ๋อตุง สัดส่วนของเศรษฐกิจของจีนลดลงเหลือเพียง 1 ใน 20 ของเศรษฐกิจโลก จีนถดถอยมากและประสบกับวิกฤติจนกระทั่งมีการเปิดประเทศอีกครั้งในปี 1979 สมัยเติ้ง เสี่ยวผิง เกือบ 40 ปีของการปฏิรูปและการเปิดระบบเศรษกิจ จีนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนตอนนี้เทียบเท่า 15% ของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐลดลงมาเหลือ 22%
การฟื้นตัวของจีน กับส่วนแบ่งของเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก ซึ่งแซงหน้าสหรัฐไปแล้วทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าศตวรรษแห่งเอเชีย (Asian Century) ได้มาถึงแล้ว ในช่วงต้นของศตวรรษนี้ ประเทศในเอเชีย นำโดยจีนจะเป็นผู้เล่นสำคัญในเศรษฐกิจโลก ตามมาด้วยอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินโดเนเซีย ในอีก 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของจีนจะกลับมาแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐ และอินเดียจะเร่งกวดตามหลังมาทีหลัง ทำให้เราเห็นว่าวงล้อประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจโลกกำลังจะย้อนกลับไปสู่จุดเดิมที่ทั้งจีนและอินเดียเป็นจ้าวของเศรษฐกิจโลกที่แท้จริง