สรุปความสัมภาษณ์
คุณศุภกร ตุลยธัญ
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Head of Investment Research & Strategy
กองทุนบัวหลวง
กองทุนบัวหลวง เตรียมที่จะออกกองทุนเปิดบัวหลวงทริกเกอร์เวิลด์ 12-21 เป็นกองทุนรวมผสม ที่ไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุน เน้นลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่างประเทศ โดยมีอัตราผลตอบแทนคาดหวัง 8% ภายในอายุโครงการ 8 เดือน เสนอขายครั้งเดียวระหว่างวันที่ 26-28 เม.ย. นี้ ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วย โดยมีมูลค่าขั้นต่ำของการซื้ออยู่ที่ 10,000 บาท
กลยุทธ์ในการบริหารกองทุนนี้จะเป็นอย่างไร คุณศุภกร ตุลยธัญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Head of Investment Research & Strategy กองทุนบัวหลวง จะมาอธิบายให้เราฟังกัน
Q : เราเล็งเห็นสัญญาณอะไรจึงเลือกออกกองทุนทริกเกอร์ที่ลงทุนทั่วโลกในช่วงจังหวะเวลานี้
A : ตลาดหุ้นโลกอยู่ในขาขึ้น ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ จึงเป็นโอกาสดีในการทำกำไรจากตลาดหุ้นต่างประเทศในช่วงนี้
ส่วนเรื่องการเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน หรือ QE เราคาดว่าจะยังดำเนินอย่างต่อเนื่องไปถึงปลายปี 2022 และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด อาจจะพิจารณาเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2023 หรือ 2024 ได้เป็นต้นไป ดังนั้นเราน่าจะยังมีช่วงเวลาปีนี้และปีหน้าที่ยังปลอดภัยจากดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่
ขณะที่ เศรษฐกิจโลกอยู่ในวัฐจักรขาขึ้น เราประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัวนานถึง 5 เป็นอย่างน้อย และอาจจะนานถึง 11 ปี เหมือนรอบที่ผ่านมาหลัง Hamburger Crisis แต่สำหรับรอบนี้ เราเพิ่งจะอยู่ในปีแรก จึงมองการปรับฐานของตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นจังหวะทยอยสะสม
เมื่อมาพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน ด้านผลประกอบการบริษัทเอกชนในต่างประเทศ มีการฟื้นตัวต่อเนื่องค่อนข้างดี ฉะนั้นเราจึงค่อนข้างมั่นใจในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนตลาดหุ้นในต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าตลาดมีโมเมนตัมขาขึ้น แต่ก็สลับกับความผันผวนสูงที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ทำให้เป็นโอกาสเหมาะสำหรับกองทุนแบบ trigger fund เนื่องจาก ลูกค้าอาจจะกังวลว่าตลาดอาจจะเกิดการปรับฐาน หากลงทุนในกอง mutual fund แบบปกติ ฉะนั้น กองทุนประเภท trigger fund สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ เนื่องจากมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลเรื่องของ market timing
Q : ตอนนี้ตลาดต่างจับตาสหรัฐฯ ทั้งเรื่องของการจ้างงาน มาตรการกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันจากวิกฤติโควิด-19 และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตรงนี้จะทำให้ตลาดสหรัฐน่าสนใจหรือไม่
A: สำหรับการจ้างงานในสหรัฐฯ ล่าสุดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร หรือที่เรียกกันว่า Non-farm payroll เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการจ้างงานเพิ่ม 916,000 คน ถือเป็นตัวเลขที่ดีเกินคาด เนื่องจากปีที่แล้วช่วงวิกฤตรุนแรง คนตกงานเพิ่มขึ้นถึง 22 ล้านคน ปัจจุบันกลับมาได้งานกันแล้ว 14 ล้านคน ก็ถือว่า กลับมาได้งานกันค่อนข้างมากแล้ว
อีกตัวเลขที่เราจับตามอง ในเรื่องตลาดแรงงานคือจำนวนคนที่ขอรับสวัสดิการว่างงาน เมื่อปีที่แล้ว ช่วงที่ตัวเลขสูงๆ พุ่งขึ้นไปสูงถึง 23 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้ลดลงมาที่ 3.8 ล้านคน เรียกว่าสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นมาก ตัวเลขค่อนข้างสอดคล้องกันกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร
เมื่อมาดูเรื่องของจีดีพี ล่าสุด IMF คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตถึง 6.4% ในปี 2021 และ 3.5% ในปี 2022 ซึ่งก็ใกล้เคียงกับที่ทางคณะกรรมการ FOMC หรือเฟดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ตัวเลขนี้ยังไม่รวมปัจจัยบวกจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในสภา Congress
เมื่อร่างนโยบายฉบับใหม่นี้ผ่านสภาฯ เราคาดว่าผลบวกต่อเศรษฐกิจจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และแน่นอน รวมไปถึงผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะในปัจจุบันเรามองว่า ปัจจัยใหม่เรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกรวมอยู่ในราคาตลาด (ยังไม่ price in)
แผนการลงทุนฉบับใหม่นี้ จะมีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับชิ้นส่วนอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ หรือเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่าแผนการลงทุนนี้จะเพิ่ม GDP สหรัฐฯถึง 1% ต่อปี ไปอีก 8 ปีข้างหน้า หากสามารถผ่านร่างนโยบายนี้ได้สำเร็จ ซึ่งเราก็ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่นกัน ดัชนีภาคการผลิต ISM Manufacturing ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบัน all time high ในรอบสามสิบกว่าปี และดัชนีภาคการบริการ ISM Service ปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด ปัจจุบัน all time high บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวที่เริ่มครอบคลุมทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
Q : มีปัจจัยอะไรต้องจับตาเป็นพิเศษ
A : เมื่อช่วงต้นปีตอนที่ตลาดมีการปรับฐานจากความกังวลว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น และจะเป็นอุปสรรคต่อตลาดหุ้น แต่ว่าล่าสุดตลาดหุ้นสหรัฐฯสามารถปรับตัวขึ้นได้ พร้อมกับบอนด์ยีลด์ที่ปรับสูงขึ้น เป็นสัญญาณดี บ่งชี้ว่าตลาดอาจจะกังวลถึงผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากเกินไป และหากสังเกต fund flow ในตลาดก็เริ่มจะเห็นว่าการปรับฐานของหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่เกิดจากบอนด์ยีลด์ปรับขึ้นก็เริ่มจบแล้ว ทำให้เรากลับมามีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นกลุ่มนี้อีกครั้งสำหรับปีนี้
ทั้งนี้ เราประเมินว่าการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความโดดเด่นสำหรับปี 2021 โดยล่าสุด ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งสหรัฐฯได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และยังมีอัตราการฉีดโดยเฉลี่ยมากกว่า 3 ล้านโดสต่อวัน คิดคร่าวๆ ประมาณ 1% ของประชากรต่อวัน
ฉะนั้นอีกไม่ถึง 2 เดือน ถ้าสามารถฉีดไปได้เรื่อยๆ ในอัตรานี้ ก็อาจจะสามารถฉีดครบทั้งประเทศ นำไปสู่การมีภูมิคุ้มกันหมู่ หรือที่เรียกกันว่า herd immunity ซึ่งเราคาดว่าน่าจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศ การบริโภค และการลงทุน
สุดท้ายคือนโยบายกระตุ้นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เราคิดว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นในกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเราคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐในส่วนนี้ 580,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Q : เรามีกลยุทธ์ในการบริหารกองทุนนี้อย่างไร
A : กลยุทธ์การบริหารกองทุนนี้ เป็นแบบ Absolute Return คือมีการตั้งเป้าผลตอบแทนของกองทุนไว้ก่อนเลย โดยกองทุนนี้เน้นการจับจังหวะการลงทุนทั่วโลก ซึ่งในช่วงแรกเราสนใจตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก่อนเลย กองทุนนี้ตั้งเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เป็นบวก และได้อัตราผลตอบแทน 8% ภายใน 8 เดือน
จุดเด่นของเราคือทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ในการบริหารกองทริกเกอร์ ที่จะคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจับจังหวะการลงทุนและปรับน้ำหนักการลงทุนตามความเหมาะสม ทยอยขายทำกำไรเป็นระยะ และคอยดูแลความเสี่ยงสำหรับหุ้นหรือกองทุนที่ปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยทางเทคนิคเปลี่ยนทิศทางจากที่ประเมินไว้ตั้งแต่แรก
การบริหารกองทุนจะมีปัจจัยประกอบที่เราพิจารณาเมื่อจะทำการปรับพอร์ต ยกตัวอย่าง เช่น
- เหตุการณ์ใหม่ๆที่อาจจะมีผลกระทบกับตลาดในช่วงนั้น (News & Catalysts)
- การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างสินทรัพย์ต่างๆ (Market Sentiment & Flows)
- การวิเคราะห์มูลค่าพื้นฐานว่าราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ (Valuation & Earnings)
- การประเมินราคาทางด้านเทคนิคเพื่อจับจังหวะซื้อขาย (Technical Analysis)
ช่วงแรกของการลงทุน อย่างที่ได้เกริ่นไป เราสนใจลงทุนในหุ้น / กองทุน / หรือ ETF ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวและการเปิดประเทศของสหรัฐฯ (Reopening) เช่น กลุ่ม Consumer กลุ่ม Retail และหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะมีการลงทุนด้านเอไอ เทคโนโลยี นวัตกรรม เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเราคาดว่าจะเป็นผลบวกกับหุ้นของกอง B-FUTURE, B-INNOTECH และ B-GTO มีการลงทุนอยู่แล้วด้วย
Q : กองทุนนี้เหมาะกับใคร
A : ในสภาวะเช่นนี้ สไตล์การบริหารทริกเกอร์ของกองทุนบัวหลวง ที่เราตั้งเป้าหมายว่าจะทำผลตอบแทนให้ได้ 8% ใน 8 เดือน ทำให้กองทุนนี้เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถลงทุนในกองนี้ได้ในช่วงเวลา 8 เดือน โดยที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องถอนเงินออกมาก่อนเพื่อใช้เงินในช่วงเวลานั้น และต้องเป็นนักลงทุนที่มีความสามารถในการรับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้
กองทุนนี้แสวงหาโอกาสจากการลงทุนในตราสารทุน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะขาดทุนหรือได้กำไรไม่ถึงเป้าหมาย 8% เมื่อกองทุนครบกำหนดได้