กองทุนบัวหลวง เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) กองทุนเปิดบัวหลวงฟินเทค (B-FINTECH) วันที่ 10-16 มิถุนายน นี้ โดยกองทุนนี้จะไปลงทุนผ่านหน่วยลงทุนของ BGF Fintech Fund ที่จะเน้นลงทุนในบริษัทที่มีรายได้จากการให้บริการเทคโนโลยีในด้านการเงิน หรือ ฟินเทคนั่นเอง
ในวันนี้ คุณธณาพล อิทธินิธิภัค ผู้อำนวยการกลุ่มลูกค้าบุคคลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BlackRock ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนที่บริหารสินทรัพย์มากที่สุดในโลก และเป็นบริษัทที่บริหารจัดการกองทุน BGF Fintech Fund จะมาให้คำตอบว่า ฟินเทคน่าสนใจอย่างไร ทำไมนักลงทุนจึงไม่ควรโอกาสการลงทุน
- ทำไมฟินเทคจึงเป็น Theme การลงทุนที่ไม่ควรพลาด
แม้เทคโนโลยีที่นำมาใช้กับการเงินนั้นมีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เอทีเอ็ม บัตรเครดิต โปรแกรมเทรดหุ้น แต่สิ่งที่ทำให้ฟินเทคมีความน่าสนใจในเวลานี้ก็คือ เทคโนโลยีในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน สูงกว่า 3,600 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น ตัวเลขยังมีไม่ถึง 1,000 ล้านคน นอกจากนี้ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นอย่างจีน มีจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนอินเดีย มีตัวเลขที่ต่ำมาก สัดส่วนประชากรที่ใช้สมาร์ทโฟนไม่ถึง 35% จึงทำให้สมาร์ทโฟนมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก
อีกประเด็นก็คือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเราจะมีเทคโนโลยี 5G ซึ่งมีความเร็วสูงกว่า 4G ถึง 20 เท่า และยังมีเรื่องการบูมของโซเชียลมีเดีย เทคโนโลยีของสตาร์ทอัพ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคไปจากเดิมมาก รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะผลักดันประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะฟินเทคจะเข้ามาช่วยพัฒนาสังคม ลดปัญหาช่องว่างความยากจน ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยต้นทุนที่ถูกลง
- อยากให้ยกตัวอย่างการใช้ฟินเทคที่เติบโตชัดเจน
ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้การชำระเงินดิจิทัล อย่างเช่นใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดสูงถึง 64% แล้วก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่าย การบริโภคทั่วโลกกว่า 63% ทำผ่านช่องทางดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) หรือบัตรเครดิต มีเพียงประมาณ 37% ที่ยังใช้เงินสดและเช็คอยู่
เมื่อมาดูเรื่องการวางระบบซอฟต์แวร์ของธนาคาร เราจะเห็นว่ามีการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนว่าจ้างบริษัทเทคโนโลยีให้เข้ามาพัฒนาระบบการเงินให้ทันสมัยมากขึ้น เพราะว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหรือว่าระบบธนาคารแบบเดิมถือว่าสูงมาก ขณะที่ผู้ใช้งานมีความพึงพอใจน้อยกว่า ทำให้ธนาคารเร่งพัฒนาหรือ outsourcing ระบบการเงิน โดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เราจะเห็นได้ว่าเม็ดเงินลงทุนของธนาคารเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนั้นสูงถึง 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020
- มีปัจจัยอะไรน่าห่วงหรือไม่สำหรับการลงทุนในหุ้นฟินเทค
เรามองว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยรวม เป็นเมกะเทรนด์ในระยะยาว ที่เรามองไปถึง 10-20 ปีข้างหน้า ขณะที่ในระยะสั้นมีความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เราก็เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
ทั้งนี้ อย่างที่เราทราบกันว่า เม็ดเงินจำนวนมากที่อัดฉีดเข้ามาในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ อาจจะถูกดึงกลับหรืออาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ประเด็นนี้อาจจะส่งผลกระทบบ้างกับหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยรวม แต่ว่าก็ส่งผลบวกกับหุ้นในกลุ่มภาคธนาคารเช่นกัน เพราะว่า อัตรากำไร หรือ profit margin ก็จะเพิ่มมากขึ้น
- อยากให้สรุปอีกครั้งว่าฟินเทคน่าสนใจอย่างไร
เรามองว่าฟินเทคเป็นส่วนหนึ่งของเมกะเทรนด์ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และโครงสร้างของธุรกิจในอนาคตในช่วงทศวรรษข้างหน้า เพราะฉะนั้นนักลงทุนและนักธุรกิจทุกคนไม่สามารถจะเลี่ยงเทรนด์นี้ได้ เป็นสิ่งที่จะต้องเผชิญและเติบโตไปด้วยกัน
- กองทุน BGF Fintech Fund มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง
ถึงแม้ว่ากองทุนฟินเทคจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับกองทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอื่นๆ แต่ที่ผ่านมากองทุนฟินเทคก็ล้วนมีผลการดำเนินงานที่ดี และในส่วนของกองทุน BGF Fintech Fund ของเราก็มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น โดยผลตอบแทน 1 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ประมาณ 92% ติดอยู่ในกลุ่ม Top 3% ของกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในกลุ่มเทคโนโลยี โดยนับจากกองทุนทั้งหมด 1,568 กองทุนด้วยกัน และยังให้ผลตอบแทนดีที่สุดในกลุ่มกองทุนฟินเทคที่มีจำนวนกว่า 100 กองทุน ขณะเดียวกันหากนำผลตอบแทนที่กล่าวมาไปเทียบกับความเสี่ยงในช่วงเวลาเดียวกัน กองทุนให้ผลตอบแทนสูงกว่าความเสี่ยงถึง 3 เท่า ในช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนใน B-FINTECH กองทุนนี้เปิดขาย IPO วันที่ 10-16 มิถุนายน นี้ โดยลูกค้ากองทุนบัวหลวง สามารถซื้อในช่วง IPO ผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking ได้ เวลา 8.30 – 16.00 น. หรือติดต่อผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และสามารถศึกษาข้อมูลกองทุนนี้ได้ที่ https://www.bblam.co.th/products/mutual-funds/foreign-investment-fund/b-fintech/b-fintech#content
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน