เหตุผลที่คุณเกษียณไม่ได้

เหตุผลที่คุณเกษียณไม่ได้

By…อรพรรณ บัวประชุม CFP®

BF Knowledge Center

“การลาออกครั้งสุดท้าย” “เกษียณเร็ว รวยกว่า” หนังสือที่อยู่ในกระแสพักใหญ่ด้วยแนวคิดที่จับใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ ทั้งคนที่อยากออกมาทำธุรกิจส่วนตัว เป็นนายตัวเอง และคนที่บอกว่า ฉันเตรียมเงินก้อนไว้ตอนเกษียณแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่มั่นใจว่าเรามีเงินพอแล้ว แล้วคุณล่ะ! แน่ใจแล้วหรือว่า มีเพียงพอแล้วจริงๆ นี่คือสิ่งที่อยากให้ทุกคนคิด

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อปัจจุบันคนเราอายุยืนยาวกว่าแต่ก่อน

ย้อนกลับไปเมื่อ 55 ปีที่แล้ว คนไทยมีอายุเฉลี่ย เพียง 57.29 ปี ถ้าเกษียณอายุ 60 เท่ากับว่าทำงานไปจนตาย ไม่มีช่วงเวลาใช้เงินหลังเกษียณ ทำให้มีเงินเหลือๆ ส่งต่อให้กับลูกหลานได้ ผ่านมาอีก 20 ปี คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 67.28 ปี มีเวลาใช้เงินหลังเกษียณเพียง 7 ปีเศษเท่านั้น ถ้าใช้เงินไม่หมดก็มีเงินส่งต่อให้กับลูกหลานหรือเป็นเงินมรดก

แต่ปัจจุบัน อายุเฉลี่ยคนทั่วโลกสูงขึ้นมาก ซึ่งไทยเองก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกับทั่วโลก เจอแบบนี้เข้าไปคงต้องร้องจ๊ากกกก!!! แล้วเริ่มคำนวณกันใหม่ ว่าเราจะมีเงินพอถึงวันสุดท้ายของชีวิตกรือไม่ หรือช่วงที่ผ่านมาเราประเมินช่วงเวลาใช้เงินหลังเกษียณสั้นเกินไป ถ้าอยากรู้ว่าเราจะมีอายุเท่าไหร่ ง่ายนิดเดียว ให้ลองดูอายุคนในครอบครัวเรา ที่เป็นเพศเดียวกัน แล้วบวกลบประมาณ 10 % เช่นคนในครอบครัวอายุ 90 เราอาจมีอายุถึง 99 หรือเพียง 81 ปี คราวนี้คุณคงรู้แล้วว่า จะต้องทำงานอีกนานเท่าไหร่

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของคนทั้งประเทศ หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของคนทั้งประเทศ และไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2573  นั่นหมายความว่า ประเทศเราจะมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20%  หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของคนทั้งประเทศนั่นเอง

ดังนั้น คนวัยทำงานจะยิ่งลดน้อยลง ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจคงเป็นสิ่งที่ตามมา และรัฐบาลคงไม่สามารถดูแลผู้สูงวัยได้ทั้งหมด เอาเป็นว่าถ้าคุณเป็นมนุษย์คิดบวก การทำงานในช่วงที่อายุมากก็จะทำให้คุณได้ใช้สมอง ใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย แต่ถ้าคิดอีกแง่คงรู้นะว่าจะเหนื่อยกับการทำงานแค่ไหน

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ารายได้หลักหลังเกษียณไม่เพียงพอ

เมื่อก่อนรายได้หลักของผู้สูงอายุก็มาจากลูกๆ แต่ว่าคนสมัยนี้เป็นโสดมากขึ้น รายได้จากส่วนนี้จึงลดลงตามลำดับ ทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องทำงานมากขึ้น ในขณะที่ส่วนหนึ่งอยู่ได้จากเบี้ยยังชีพทางราชการ เงินบำเหน็จ/บำนาญ การพึ่งพากันของคู่สมรส ผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงการพึ่งพาญาติพี่น้อง

ดังนั้น การเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่เริ่มมีรายได้อย่างน้อย 20% จะช่วยให้มีเงินก้นถุงไว้ใช้ยามผมเปลี่ยนสี (หากใครผมเปลี่ยนสีเร็วก็ต้องรีบเก็บเร็วหน่อย) ภารกิจนี้จะลุล่วงไปได้ ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงไม่แพ้เงินเฟ้อด้วย

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าภาระหนี้ยังไม่หมด

เนื่องจากเราตรากตรำผ่านงานหนัก จนทำให้เซลล์สมองอาจลืมไปว่ายังมีภาระหนี้ที่ยังต้องชำระอีก ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถใหม่คันที่ 5 รวมถึงการปรับปรุงบ้านหลังเดิมที่อาจมีขึ้นในอนาคต งานนี้คงต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงานกันต่อไปจนกว่าหนี้จะเป็นศูนย์

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเรามี Life Style ที่ต่างกัน เหมือนกับรองเท้าที่มีสโลแกนว่า “ทางใคร ทางมัน”

80% ของผู้สูงอายุ ยังคงต้องมีสังคม มีกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไปเที่ยว งานบวช งานแต่ง งานศพ นี่ก็เป็นภาษีสังคมที่เลี่ยงไม่ได้ หลายคนถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปไหน เอาแต่ทำงานก็ยังคงต้องจ่ายค่าสึกหรอเหมือนกัน ไม่ว่าชีวิตสไตล์ไหนก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีเงินก้อนสำหรับใช้ในช่วงบั้นปลาย

ถ้าเราเป็นคนที่เตรียมพร้อมตลอดเวลา และมีสติตั้งมั่นก็คงจะมีเงินจ่ายได้ไม่ยาก การเตรียมหาวิธีที่จะมีเงินใช้เรื่อยๆ เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมีเงินใช้ทุกเดือนจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุดคุณจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้สังคมสูงวัยในประเทศไทยมีคุณภาพมากขึ้น อยากให้เข้าใจว่า คนที่ร่ำรวย ไม่ใช่คนที่หาเงินเก่งเป็นอย่างเดียวแต่ต้องเป็นคนที่ใช้เงิน (ทำงาน) ให้เป็นด้วย ขอเพียงแค่เปิดใจยอมรับ วางแผนการเงินของตัวเองและทำเรื่องลงทุนให้เป็นเรื่องง่าย “รู้หา รู้ใช้ รู้เก็บ รู้จักลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง” แล้วคุณจะเป็นคนที่รวยก่อนแก่อย่างแน่นอน