ทำไมต้องมีกองทุนหุ้นสหรัฐฯ และจีนไว้ติดพอร์ต

ทำไมต้องมีกองทุนหุ้นสหรัฐฯ และจีนไว้ติดพอร์ต

สรุปความสัมภาษณ์

เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

กองทุนหุ้นสหรัฐฯ และกองทุนหุ้นจีนเป็นการลงทุนใน 2 ขั้วมหาอำนาจ เป็นการลงทุนในเชิงภูมิภาค คือประเทศสหรัฐฯ และจีน แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การไปลงทุนในสหรัฐฯ และจีน หมายถึงการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน

ในส่วนของจีนมีทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น เรียกว่า A-Share และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง หรือ H-Share รวมทั้งก็มีบริษัทจีนบางส่วนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วย

โดยรวมเวลาเราพูดถึงการลงทุนในสหรัฐฯ และจีน หมายถึงการไปลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นประเทศเหล่านี้ ซึ่งทั้ง 2 ตลาด มีบริษัทดีๆ มากมาย ซึ่งก็มีการทำตลาดมีลูกค้าอยู่ทั่วโลก หลายๆ บริษัทซึ่งเป็นบริษัทในเชิงกึ่งเทคโนโลยี หรือว่าเทคโนโลยี ก็จะมีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น นี่คือความน่าสนใจประเด็นหนึ่ง

ประเด็นต่อมาคือ ความใหญ่ของทั้ง 2 ประเทศ โดยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณ 1 ใน 4 ของโลก และสหรัฐฯ เองก็มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้เติบโตไปข้างหน้า ส่วนจีนเองก็มีแผนสนับสนุนกิจการ หรือบริษัท สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศตัวเองเติบโตอย่างยั่งยืนเช่นกัน

  • จีน

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่มาแรง มีเป้าหมายผลักดันเศรษฐกิจให้แซงหน้าสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นนี้สหรัฐฯ ก็ไม่ได้พึงพอใจนัก โดยจีนไม่ได้ผลักดันแค่การเติบโตอย่างเดียว แต่มีแผนที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งเรียกว่า “小康社会” (อ่านว่า เสี่ยวคังเซ่อหุ้ย) หมายถึงสังคมที่กินดีอยู่ดี พอมีพอกิน ผู้คนสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ เป็นสังคมที่มีความสุข นี่คือนโยบายรัฐบาลจีนที่มีความสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลจีนผลักดันออกมา

หากดูแผนของจีน ซึ่งมีแผนเศรษฐกิจทุก 5 ปี แผนในตอนนี้ จีนทราบแล้วว่าเศรษฐกิจโลกจะพึ่งพิงการส่งออกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องพึ่งพิงการบริโภคภายในประเทศด้วย ซึ่งจีนมีประชากรมากที่สุดในโลก เป็นประชากรที่มีกำลังซื้อ เป็นสังคมที่ชนชั้นกลางมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ และเป็นสังคมที่เปิดรับเทคโนโลยี ถือว่ามีประสิทธิภาพในการสนับสนุนการเติบโตที่สำคัญ

ขณะที่ นโยบายสำคัญของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง คือ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้มีการขยายการบริโภคภายในประเทศมากขึ้นเพื่อที่จะให้เชื่อมโยงกับการผลิต การจัดจำหน่าย การขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อพึ่งพาตลาดภายในประเทศได้อย่างยั่งยืน ด้วยกำลังซื้อมหาศาลภายในประเทศที่พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้จีนเปลี่ยนผ่านจากยุค Made in China สู่ยุค Made for China

จีนต้องการลบภาพลักษณ์สินค้าลอกเลียนแบบ แล้วสร้างสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ แบรนด์ใหม่ๆ พร้อมผลักดันให้ประชากรที่มีอยู่จำนวนมากสนใจและซื้อสินค้าจีน แทนที่จะต้องไปซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ภายใต้แผนเศรษฐกิจหมุนเวียนคู่ขนาน ที่เน้นการบริโภคภายในและการส่งออกควบคู่กัน

  • สหรัฐฯ

สำหรับความใหญ่ของสหรัฐฯ ในแง่เศรษฐกิจใหญ่ประมาณ 22.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คือใหญ่ที่สุดในโลก มีบริษัทมากมายที่ประกอบกิจการในสหรัฐฯ ส่วนหุ้นสหรัฐฯ ก็มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของดัชนี MSCI All Country World Index

นอกจากความใหญ่แล้ว หุ้นบริษัทในสหรัฐฯ ก็ถือเป็นหุ้นที่มีคุณภาพ หากไปดูการจัดอันดับของ interbrand.com เราพบว่า 20 ใน 30 แบรนด์ที่มีมูลค่าแบรนด์มากที่สุดเป็นบริษัทในสหรัฐฯ และหากดูใน 10 อันดับแรกจะพบว่า อันดับ 1-4 เป็นแบรนด์สหรัฐฯ ทั้งหมด แสดงถึงการยอมรับและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผลักดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เติบโต โดยดัชนี S&P500 เพิ่มปีละ 14.2% ในช่วง 10 ปี และเมื่อดูผลตอบแทนการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ 10-20 ปีย้อนหลัง จะพบว่า ตลาดสหรัฐฯ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากในการให้ผลตอบแทนสูงสุดเทียบกับประเทศทั่วโลก แต่ความผันผวนน้อยที่สุด เพราะคุณภาพบริษัทดีกว่า ด้วยเหตุนี้การมีหุ้นอเมริกาในพอร์ต จะช่วยเพิ่มคุณภาพของสินทรัพย์ตราสารทุนของพอร์ตได้

ประเด็นต่อมาคือเรื่องโควิด-19 ที่สหรัฐ มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรไปมาก ด้วยการที่สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีน ทั้งยังเป็นประเทศที่มีอำนาจการต่อรอง

หากดูจำนวนการฉีดวัคซีนอย่างเดียวอาจจะยังไม่ถึง 70% แต่เมื่อนำตัวเลขของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มีภูมิคุ้มกันด้วยตัวเองจากการติดเชื้อ ก็ทำให้ตัวเลขผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแตะระดับ 70% ถือว่าสหรัฐฯ เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว

ทีมผู้จัดการกองทุนของกองทุนในต่างประเทศที่ทีมงานของกองทุนบัวหลวงได้สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เชื่อว่าสหรัฐฯ จบภาวะช็อคจากโควิด การล็อคดาวน์จะไม่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ แล้ว

ประกอบกับนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่อัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะ American Jobs Plan ประมาณ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 8 ปี จะผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การผลักดันให้เกิดการจ้างงาน

โจ ไบเดน ไม่ได้บอกว่า จะสาดเงินเข้าไปแบบไม่ดูอะไร แต่จะเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอนาคต รวมถึงกลุ่มที่เป็นกลุ่มหุ้นยั่งยืน เนื่องจากโจ ไบเดน นำสหรัฐฯ กลับไปลงนามในสนธิสัญญาข้อตกลงปารีส และนำเอาประเด็นเรื่องความยั่งยืนนี้เป็นจุดขายในช่วงหาเสียง ที่พยายามผลักดันสหรัฐฯ สร้างภาพของการเป็นฮีโร่ในเวทีโลก

ประเด็นสุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้การทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น Theme เทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ พลังงานสะอาด สตรีมมิ่ง 5G คลาวด์ การใช้ชีวิตและอุปโภคบริโภคของสังคมยุคใหม่ ซึ่งบริษัทจำนวนมากใน Theme เหล่านี้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทิ้งการลงทุนในสหรัฐฯ ไปไม่ได้ ควรต้องมีอยู่ในพอร์ต

  • ความแตกต่าง และความท้าทายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีน

การลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นเราต้องรู้และเข้าใจว่าความเสี่ยงของการลงทุนในทั้ง 2 ประเทศนี้คืออะไร

สำหรับจีน มีระบบการปกครองแตกต่างจากบ้านเรา การเมืองจีนมีความนิ่งมาก รัฐบาลจีนมีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินการสิ่งต่างๆ เสี่ยวคังเซ่อหุ้ย คือนโยบายที่จีนบอกว่าจะโตไปแบบสังคมที่กินดีอยู่ดี ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ดังนั้นการที่รัฐบาลจีนเห็นอะไรที่เติบโตแล้วจะสร้างปัญหาให้ เกิดการผูกขาด ไม่เป็นธรรม เป็นการเติบโตที่รากฐานไม่แข็งแกร่ง ก็จะออกกฎจัดการเลย

เราจะเห็นว่ารัฐบาลจีนออกกฎจัดการกับบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนกลัว เพราะเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่นักลงทุนให้ความสนใจ แต่หากไปดูกฎเหล่านั้นจะพบว่า จีนเปิดทางให้บริษัทเติบโตได้ เพียงแต่ต้องไม่ผูกขาดไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่บีบบังคับผู้บริโภค

หรือว่าเหตุการณ์ที่มีความชัดเจนมาก คือการที่รัฐบาลจีนออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทหรือธุรกิจกวดวิชาต่างๆ ให้บริษัทเหล่านี้ประกาศตัวเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร รวมทั้งธุรกิจกวดวิชากับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ให้ยกเลิกให้หมด ห้ามนำบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งก็สร้างความตกใจว่าเหตุใดรัฐบาลเข้ามาคุม เป็นการก้าวออกมาจากเรื่องเทคโนโลยี มาคุมเรื่องอื่นแล้ว จะคุมอะไรอีกหรือไม่

แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนมีเหตุผล เพราะประชากรจีนมีจำนวนมาก ทุกคนต้องการให้ลูกหลานได้เรียนดี การแข่งขันแก่งแย่งกวดวิชาจึงสูงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กจีนมีความเครียด และรายได้ 10% ของผู้ปกครองที่ได้มาต้องนำไปจ่ายกับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งรัฐบาลมองว่ามากเกินไปและไม่เหมาะสมจึงออกมาควบคุม เพราะการปล่อยต่อไปเรื่อยๆ อาจทำให้สังคมไม่ได้เติบโตอย่างที่ต้องการ

ฉะนั้นความเสี่ยงของการลงทุนในจีนคือ ระหว่างทางอาจเกิดการควบคุมโดยภาครัฐซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดจัดการ และเวลาเกิดเหตุการณ์แต่ละรอบ ตลาดหุ้นก็จะผันผวน แต่เมื่อคลื่นลมสงบ ก็จะเดินหน้าต่อได้

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจกับการลงทุนในหุ้นจีน ก็คือ นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ถูกวางอย่างเป็นระบบ ถ้ามีอะไรที่ดูไม่เข้าท่า ไม่สอดคล้องกับแผนการเติบโตในระยะยาว รัฐบาลจีนออกกฎคุวบคุมทันที แม้หลายคนกังวลว่ากระทบตลาดหุ้น แต่เรากลับมองว่าดี เพราะเป้าหมายชัดเจน จีนต้องการการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากกว่าวูบวาบฉาบฉวย

ในส่วนของสหรัฐฯ ถือเป็นฟากตรงกันข้าม มีประชาธิปไตยเต็มใบ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มีอิทธิพลต่อโลกมาก แต่จริงๆ แล้วผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจ การกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ จริงๆ คือ สภาสูงกับสภาล่างของสหรัฐฯ หรือวุฒิสภา กับสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง ซึ่งจะเป็นผู้อนุมัตินโยบายหรือกฎหมายต่างๆ ที่ออกมา ซึ่งประธานาธิบดีก็ต้องผลักดันกฎหมายให้ผ่านสภาเหล่านี้ ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำได้อย่างง่ายดาย หรือรวดเร็ว

โดยรวมแล้วนโยบายรอบนี้จะผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตจริงๆ เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลาหน่อย และระหว่างทางก็อาจจะมีข่าวให้กังวลบ้างว่านโยบายจะผลักดันสำเร็จหรือไม่ แต่ข้อสำคัญอย่าลืมว่าตอนนี้พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก ดังนั้นเวลาจะผลักดันอะไร ก็จะผลักดันในช่วงนี้

  • เลือกลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ หรือกองทุนหุ้นจีนดี

การลงทุนมาพร้อมคำว่า จัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation เมื่อเราเห็นแล้วว่า ทั้งหุ้นจีนและหุ้นสหรัฐฯ ต่างก็มีดี ขณะที่ Correlation หรือความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่ง ไม่ได้อิงกันเสียทีเดียว มีอิสระในการเติบโตตามพื้นฐานของตัวเอง โดยพื้นฐานการเติบโตก็ดี ทั้งปัจจัยพื้นฐาน สภาพแวดล้อมนโยบายภาครัฐ บริษัทมีคุณภาพดี และกำลังการซื้อของประชาชนที่ดี ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเลือก สามารถลงทุนทั้งคู่ได้

เพียงแต่เวลาลงทุนทั้งคู่ ก็ต้องดูจังหวะ โดยในช่วงไหนที่มีภาวะตื่นตูมตกใจเกิดขึ้น ก็ดูว่ามาจากเรื่องอะไร อย่างเช่น เรื่องการออกกฎเกณฑ์ที่ทำให้หุ้นจีนปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา ก็ถือเป็นจังหวะของการเก็บและทยอยสะสม

หรือตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีความร้อนแรง ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ตลาดก็มีความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นหรือไม่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการลดการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) หรือไม่ ซึ่งก็ถือเป็นปัจจัยระหว่างทางลงทุนทั้งสิ้น ดังนั้นให้ดูว่าจังหวะไหนที่มีความตื่นกลัว และทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงมาแรง ก็เป็นจังหวะที่ทยอยเก็บสะสมได้

ในกรณีที่ใครยังไม่เคยลงทุนเลยทั้งกองทุนหุ้นสหรัฐฯ และกองทุนหุ้นจีน แนะนำว่า สมมติมีเงินก้อนที่ตั้งใจจะลงทุนในทั้ง 2 ประเทศ 100% ให้แบ่งเงินออกเป็น 3 ก้อน โดยแบ่งเงินก้อนแรก ลงทุน 30-40% เพื่อเริ่มต้นลงทุน ส่วนเงินอีก 2 ก้อน ให้รอดูจังหวะที่มีข่าวมากระทบทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง โดยที่เชื่อว่าอนาคตระยะยาวตลาดหุ้นยังไปต่อได้แน่ๆ เพื่อเข้าไปซื้อสะสมเพิ่มเติมได้

  • กองทุนหุ้นจีนและกองทุนหุ้นสหรัฐฯ ของกองทุนบัวหลวง

กองทุนบัวหลวงมีกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) ซึ่งลงทุนในหุ้นจีน All China คือหุ้นจีนที่จดทะเบียนในทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ตลาดหุ้นเซินเจิ้น ตลาดหุ้นฮ่องกง รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยกองทุนนี้ ได้มอบหมายให้ Allianz Global Investors Asia Pacific Limited ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องหุ้นจีน เป็นผู้รับดำเนินงานการลงทุนในต่างประเทศของกองทุน (Outsourced Fund Manager) และมีผู้จัดการกองทุนของกองทุนบัวหลวงสามารถคัดเลือกลงทุนหุ้นจีนรายตัวเสริมได้ โดยกองทุนนี้มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลด้วยไม่เกินปีละ 4 ครั้ง หรือตามที่บริษัทจัดการเห็นสมควร

ส่วน กองทุนเปิดบัวหลวงยูเอสอัลฟ่า (B-USALPHA) ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งกองทุนบัวหลวงมองว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีศักยภาพในการเติบโตของกำไรจริงๆ ส่วนความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ หรือนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ตลาดรับรู้ไประดับหนึ่งแล้ว แก่นแท้คือผลประกอบการของบริษัทที่จะเติบโตได้ดี ภายใต้นโยบายของโจ ไบเดน ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความน่าสนใจ โดยกองทุนนี้มีนโยบายจ่ายเงินปันผลเช่นกัน