กองทุนบัวหลวง
ทุกวันนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับรูปแบบการบริหารธุรกิจต่างๆ แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกองค์กรไปแล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยตรง
ได้แก่ การให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งทุกท่านคงเห็นตัวอย่างมาแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ว่า เมื่อความต้องการมีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้นั้น จะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตประชาชนมากขนาดไหน ทั้งยังสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นสังคมอีกด้วย
องค์กรอนามัยโลก (WHO) บัญญัติถึงเป้าหมายด้านความเท่าเทียมทางสุขภาพ (Health Equity) ไว้ในปี 2005 ว่า “ …the absence of unfair and avoidable or remediable differences in health among population groups defined socially, economically, demographically or geographically…” ซึ่งก็คือ การทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น ในราคาที่จับต้องได้ แต่ทว่า การขยายโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์นั้น ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อันเป็นอุปสรรคสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาที่ไม่ได้มีกำลังทรัพย์มากนัก
อย่างเช่น ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่มีอัตราการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ดังกล่าวต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น จีนและญี่ปุ่น เป็นต้น และนี่เอง ที่การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับบริการการแพทย์มากขึ้น อาจจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในด้านนี้ได้ จึงเป็นที่มาของกระแส ‘Healthcare Digitalisation’ ซึ่งคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นอย่างมากในอนาคต ด้วยแรงผลักดันจาก 3 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้
ปัจจัยแรก กลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่กำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ ซึ่งปัญหานี้เห็นได้ชัดเจนในช่วงการระบาดของ COVID-19 โดยสามารถประเมินได้จากจำนวนแพทย์โดยเฉลี่ยต่อประชากร 1,000 คน ที่ต่ำกว่าอัตราค่าเฉลี่ยของมาตรฐานโลก โดยอัตราค่าเฉลี่ยของอาเซียนไม่รวม สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน อยู่ที่ 0.6 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าเฉลี่ยของมาตรฐานโลกอยู่ที่ 1.6 หรือถ้าพิจารณาตัวเลขจำนวนเตียงคนไข้ต่อประชากร 1,000 คน ก็ยังคงมีอัตราค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานโลกเช่นกัน (อัตราค่าเฉลี่ยจำนวนเตียงคนไข้ของกลุ่มประเทศอาเซียนไม่รวม สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน อยู่ที่ 1.35 เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าเฉลี่ยของมาตรฐานโลกอยู่ที่ 2.9)
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทจำนวนมาก ซึ่ง Digital Healthcare จะช่วยแก้ปัญหาความห่างไกลที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในประเทศที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงการบริการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งประเทศจีน เป็นตัวอย่างพิสูจน์ความสำเร็จของเรื่องราวนี้ได้เป็นอย่างดี โดยประเทศจีนนั้นมี Platform ที่ให้บริการทางการแพทย์ออนไลน์หลายเจ้า
หนึ่งในนั้น ได้แก่ Wedoctor ซึ่งเป็น Mobile Application ทางการแพทย์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Tencent ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้ให้บริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การรักษาสุขภาพ การประกันภัย และร้านขายยาออนไลน์ ผู้ป่วยสามารถใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล 7,800 แห่งที่มีแพทย์มากกว่า 270,000 คนทั่วประเทศ ณ ปัจจุบัน มีชาวจีนจำนวน 222 ล้านคนลงทะเบียนใช้แอปพลิเคชั่นนี้
ปัจจัยที่ 2 การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของประชากรในอาเซียนที่ให้ความใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพ อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ (Ageing Population) และกลุ่มชนชั้นกลาง (Middle Class) ซึ่งส่งผลให้อัตราการใช้บริการ Digital Health เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในด้านโครงสร้างประชากรนั้น มีสัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.3 ในปี 2000 ไปเป็นร้อยละ 7.1 ในปี 2019 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.3 ในปี 2030
และในทำนองเดียวกัน จำนวนประชาชนชั้นกลางคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 334 ล้านคนในปี 2030 หรือจากร้อยละ 24 ในปี 2019 ไปเป็นร้อยละ 51 ในปี 2030 ซึ่ง Digital Healthcare สามารถช่วยให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการในการดูแลสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในอนาคต
ตัวอย่างเช่น จากสถิติพบว่าร้อยละ 32 ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเกิดภาวะหยุดหายใจชั่วคราว (Sleeping Apnea) ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาในระยะยาว การรักษาด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งสามารถวัดข้อมูล real-time เกี่ยวกับการนอนของคนไข้และจะถูกส่งไปยังระบบ Cloud ทำให้แพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลของคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพราะแพทย์สามารถเข้าใจรูปแบบลักษณะอาการของคนไข้แต่ละคนได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้คนไข้สามารถดูข้อมูลการนอน real-time ของตนผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย
ปัจจัยสุดท้ายและสำคัญที่สุด คือ การะบาดของ COVID-19 ซึ่งถึงตอนนี้ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าการกระจายฉีดวัคซีนจำนวนมากจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้หรือไม่ ซึ่งกลายเป็นตัวเร่ง (Catalyst) ให้อัตราการใช้บริการ Digital Health เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะ Telemedicine ซึ่งเป็นบริการให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์อื่นๆ ผ่านทาง Platform เพื่อการวินิจฉัยและการรักษา และยังช่วยลดแรงกดดันต่อต่อทรัพยากรทางการแพทย์ รวมทั้งลดการติดต่อระหว่างบุคคล ในปีที่แล้วมีจำนวนคนที่มาใช้บริการผ่าน Telemedicine Platform รายเดือนในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อเทียบกับระดับก่อนการระบาดของ COVID-19
นอกจากนั้นการศึกษาของ L.E.K. Consulting และ GRG Health พบว่าหลังจากการระบาดของ COVID-19 จบลง โรงพยาบาลกว่าร้อยละ 60 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงต้องการที่จะใช้ Telemedicine Platform ต่อไป ซึ่งนอกเหนือจาก Platform technology ที่คาดว่าจะถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น COVID-19 ยังเร่งการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทางการแพทย์ เช่น ตัวคัดกรองอุณหภูมิด้วย AI ซึ่งได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อตรวจจับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มคนจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
ณ ปัจจุบัน มีบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์หลายแห่ง เริ่มต้นจากการเป็นบริษัท Startup แล้วพัฒนาจนเป็นธุรกิจที่เติบโตเต็มที่ ในขณะเดียวกันผู้เล่นรายใหญ่หลายรายในตลาด ได้สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น สถาบันทางการแพทย์ บริษัทโทรคมนาคม และบริษัทประกันภัย
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เช่น บริษัท พรูเด็นเชียลประกันภัย ร่วมมือกับ Halodoc ซึ่งเป็น Health Platform สัญชาติอินโดนีเซีย เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ลูกค้าของพรูเด็นเชียลผ่าน Platform ดังกล่าว หรือกลุ่มบริษัทเอไอเอ สนับสนุนให้ผู้เอาประกันใช้อุปกรณ์สวมใส่ เพื่อติดตามกิจกรรมประจำวันและมอบส่วนลดพิเศษให้กับผู้เอาประกันที่ดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ (Vitality Program) เป็นต้น
นอกเหนือจากเทคโนโลยีที่ใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชนทั่วไปแล้ว ยังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงาน เช่น Meticuly ซึ่งเป็น Startup ในประเทศไทย ที่ใช้เทคโนโลยี AI และการพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) ในการพัฒนารากฟันเทียม จะเห็นว่า เทคโนโลยีนั้นกำลังมีส่วนพัฒนาความสามารถในแทบจะทุกรูปแบบของการรักษาและการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ
จากที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนถึงศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ Healthcare Technology ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งแม้จะถูกเร่งขึ้นจากการมาของ COVID-19 แต่เชื่อว่าจะไม่จบลงแม้การระบาดจะคลี่คลายไป ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนเบื้องต้นของการใช้บริการที่ลดลง
นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายของ Healthcare Sector ในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 เทียบกับ 4.2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2017 อีกทั้งภาคเอกชนที่มีเงินทุนหลายรายเริ่มสนใจเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เรามีโอกาสที่จะเห็นนวัตกรรม หรือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยดูแลรักษาสุขภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้
Source: HKTDC Research, Bangkok Post, ASEAN Today, Techwire Asia, Thailand Convention and Exhibition Bureau