โดย…ศิรารัตน์ อรุณจิตต์
กองทุนบัวหลวง
ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่จับตามองมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายสำหรับคนทั่วไป เนื่องด้วยการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยลดปรากฏการณ์โลกร้อนได้
เราต่างรู้ว่า ทุกวันนี้สภาพอากาศมีความแปรปรวน ปรากฎการณ์โลกร้อนเป็นสิ่งที่ไม่ไกลตัวเลย และนับว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่า นานาประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับต่างๆ ด้วยต่างเห็นพ้องต้องกันว่า โลกมีความเสี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่ลงนามตั้งแต่ปี 1992 รวมถึงการลงนามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 ที่มีเป้าหมายสำคัญในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และเป้าหมายใหญ่ที่ไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้
นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ในเกือบทุกปี ผู้นำประเทศจากทั่วโลกจะเดินทางมาพบปะกันเพื่อหารือในเรื่องการตอบสนองของโลกต่อปัญหาสภาพอากาศ ในการประชุมซึ่งรู้จักกันในชื่อ “การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา” (Conference of the Parties หรือ COP) โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 1 – 12 พ.ย. การประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากนานาชาติจะต้องยื่นแผนปฏิบัติงานของตัวเอง เพื่อบอกว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการทบทวนแผนการฉบับล่าสุดของแต่ละประเทศ
ในการประชุมดังกล่าว มีนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสันของอังกฤษ เป็นผู้กล่าวเปิดประชุม โดยได้เรียกร้องให้ผู้นำโลกเริ่มดำเนินการยุติการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินอย่างจริงจัง เร่งการเปลี่ยนผ่านมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และยุติการทำลายป่าไม้ จากคำกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นอย่างชัดเจน
จากข้อมูลของ Marketsandmarkets พบว่า ตลาดยานยนต์ไฟฟ้ามีมูลค่า 1.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027 นับว่ามีอัตราการเติบโตต่อปีกว่า 22% ขณะเดียวกัน จากรายงานของ IEA พบว่า ในปี 2020 มีรถยนต์ไฟฟ้าถึง 10 ล้านคันวิ่งบนท้องถนนทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นรวดเร็วมากในช่วงที่ผ่านมา จากระดับไม่ถึง 1 ล้านคันในปี 2013 นอกจากนี้ ในแง่ของยอดขาย พบว่า จากข้อมูลของ EV-Volumes ในครึ่งแรกปี 2021 มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 2.65 ล้านคัน เพิ่มขึ้นถึง 168% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปีก่อน (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำด้วยวิกฤติ COVID-19 โดยในครึ่งแรกปี 2020 ยอดขายลดลง 14% เทียบกับครึ่งแรกปี 2019 ขณะที่ตลาดรถยนต์ลดลงถึง 28% ในช่วงเดียวกัน) โดยบริษัทที่มียอดขายเป็นอันดับต้นๆ ของครึ่งแรกปีนี้ ได้แก่ Tesla จำนวน 386,000 คัน Volkswagon จำนวน 332,000 คัน ตามมาด้วย GM จำนวน 227,000 คัน ทั้งนี้ ทาง EV-Volumes คาดว่า ในปี 2021 จะมียอดขายยานยนต์ไฟฟ้าถึง 6.4 ล้านคัน ขยายตัวถึง 98% จากปีก่อน
การเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้านั้น เป็นเทรนด์ในอนาคตที่จะมาอย่างแน่นอน รัฐบาลหลายๆ ประเทศได้พยายามผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสมาชิก 11 ประเทศในกลุ่ม Clean Energy Ministerial ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายรถยนต์รวมกันถึงร้อยละ 49 ของตลาดรถยนต์โลก ได้ร่วมลงนามในโครงการ EV30@30 ที่กำหนดเป้าหมายให้แต่ละประเทศมียอดขายยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของยอดขายรถทั้งหมดภายในปี 2030
ขณะที่ของไทยเอง รัฐบาลได้กล่าวไว้ว่า จะมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ โดยตั้งเป้าจะให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งจะใช้รถยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2035
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นไปได้รวดเร็วแค่ไหนในแต่ประเทศ คงต้องขึ้นอยู่กับการผลักดันสนับสนุนหลักจากรัฐบาล ประกอบกับการปรับตัว ปรับเปลี่ยนการผลิตของภาคเอกชน และความมุ่งมั่นของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคผู้บริโภคที่ต้องเปิดใจเปิดรับเทรนด์ใหม่ที่กำลังจะมาถึง เรามารอดูกันว่า ในอนาคตยานยนต์ไฟฟ้าจะออกมาในรูปแบบไหน อย่างไรบ้าง