ไม่อยากรับความเสี่ยง ในการลงทุนทำอย่างไรดี

By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

BF Knowledge Center

ปัจจุบันคนจำนวนมากเข้าใจเรื่องการลงทุนและความจำเป็นของการลงทุนในหุ้นมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีคนบางส่วนที่ไม่พร้อม และไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากการลงทุนเลย ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร อะไรคือทางออก

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับคำว่าอยากรับความเสี่ยงก่อนก่อน เพราะถ้าเราเลือกได้ก็ไม่มีใครอยากรับความเสี่ยงทั้งนั้น  ถามดูร้อยทั้งร้อย ให้ลงทุนแบบมีโอกาสขาดทุนกับไม่ขาดทุนแน่ๆ ใครๆ ก็ไม่อยากขาดทุนทั้งนั้น แต่ที่ยอมลงทุนในเรื่องที่มีโอกาสขาดทุน คือ เค้าเห็นแล้วว่าคุ้มที่จะเสี่ยง ต้องมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่าเก็บเงินอยู่เฉยๆ ในธนาคาร  และเขาต้องเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเขาจะได้อย่างนั้น หรือใกล้เคียง

อยากได้ผลตอบแทนสัก 7-8%ต่อปี ตอนนี้แบบไม่เสี่ยง หรือเสี่ยงน้อยๆ แน่นอนว่าไม่มี ถ้าอยากได้ต้องยอมเสี่ยง แม้ไม่อยากเสี่ยง

กลุ่มที่ไม่อยากรับและไม่ยอมเสี่ยงเลย ส่วนมากก็จะเป็นผู้ใหญ่ สูงอายุ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ขาดทุน จากการลงทุนแบบเสี่ยงมาก่อนในยุคสมัยหนึ่ง ประกอบกับช่วงหนึ่งเขาเคยลงทุนที่ได้ผลตอบแทนดีๆ แบบความเสี่ยงต่ำมากหรือเรียกว่าไม่มีเลยมาก่อน ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง สมัยนั้น ฝากธนาคารออมทรัพย์ได้อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ฝากประจำได้อัตราดอกเบี้ย 10-12%ต่อปี แถมรัฐบาลยังรับประกันเงินฝากในธนาคารให้ด้วย นับเป็นช่วงที่รุ่งเรืองมากของการฝากธนาคาร และช่วงรุ่งเรืองของคนไทยกับการออม คนไทยไม่จำเป็นต้องไปลงทุนหุ้น นำเงินไปเสี่ยง เพราะฝากเฉยๆ ก็ได้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว  แต่ถึงวันนี้ เรารู้กันแล้วว่า นั่นเป็นกลไกที่บิดเบี้ยวในเรื่องการลงทุน และเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนคืน

เรื่องอัตราดอกเบี้ยสูงๆ ในยุคสมัยนั้นผ่านมาแล้ว 20ปี ถ้าผู้ใหญ่อายุ 50-70ปี ก็จะมีช่วงวัยทำงานหาเงิน ที่เก็บเงินออมด้วยการฝากประจำกับธนาคารได้ดอกเบี้ยสูงๆ ขณะเดียวกันก็เคยเจ็บปวดกับตลาดหุ้นในยุคต้มยำกุ้งมาก่อน  คนเหล่านี้แหละที่เขาเข็ดกับการลงทุน และมีไม่น้อยที่ปัจจุบันยังไม่ยอมลงทุนในหุ้น ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเพราะอะไร

แต่ก็ไม่ใช่คนไทยในวัยนั้นทุกคนที่กลัวความเสี่ยง ยังมีอีกมากมายที่มีการลงทุนในหุ้น หรือกองทุนหุ้น ทั้งไทยและต่างประเทศ เมื่อลองวิเคราะห์หาเหตุผล จะพบว่า กลุ่มคนวัย Baby Boomer ถึงเจน X ต้นๆ ที่ลงทุนในหุ้น มีหลายเหตุผลด้วยกัน เพราะพวกเขาเหล่านั้น

  • เข้าใจเรื่องราวของการลงทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยงเป็นอย่างดี
  • มีความจำเป็นต้องหาวิธีให้ผลตอบแทนงอกเงย เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิต ครอบครัว และตนเองในยามเกษียณ
  • หงุดหงิดและรับไม่ได้กับผลตอบแทนจากการฝากธนาคารที่ต่ำจนน่าใจหาย
  • เชื่อคนอื่น และตัวอย่างของคนที่ได้กำไรจากการลงทุนเหล่านั้น อยากได้ผลตอบแทนดีๆ บ้าง
  • เหตุผลอื่นๆ เช่น ลงทุนเพราะต้องการผลประโยชน์ด้านภาษี ในกองทุน RMF LTF ลงทุนเพราะผู้จัดการชักชวน เป็นต้น

สำหรับคนที่กินไม่ได้นอนไม่หลับหากลงทุนแล้วขาดทุน รับไม่ได้ถ้าราคาหุ้น ราคาหน่วยลงทุนจะลดลงจากวันที่ซื้อ ก็ไม่ต้องฝืนใจไปลงทุนให้เสียสุขภาพจิต แต่ต้องลองพยายามหาทางอื่นดูเพื่อชดเชย

ก่อนอื่นขอให้ย้อนไปเหตุผลเริ่มแรกเสียก่อน ว่าที่ต้องการไปลงทุนหุ้นเพราะอะไร ส่วนใหญ่ก็เพราะต้องการผลตอบแทน ทำให้เงินเพิ่มขึ้นจากดอกผลของการลงทุน เนื่องจากคำนวณแล้วเงินใช้ยามเกษียณไม่เพียงพอ ต้องหาทางให้เงินออมที่มีอยู่งอกเงย หรืออาจจะอยากได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ย และชนะเงินเฟ้อ

ดังนั้น การลงทุนเป็นวิธีการทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นจากดอกผลของเงินที่มีอยู่ หรือเป็นการสร้างเงินให้งอกเงยจาก passive income ที่หมายถึงเงินรายได้จากการลงทุนจากเงินออมที่มีอยู่ ถ้าไม่เลือกวิธีนี้ ก็ต้องหันไปหาวิธีทำให้เงินเพิ่มขึ้นจากรายได้ที่เรียกว่า active income  หารายได้จากการประกอบสัมมาอาชีพให้เพิ่มขึ้น อาจจะเลือกวิธีทำงานให้มากขึ้นเพื่อหารายได้เพิ่มเติม หรือทำอาชีพเสริม หรือยืดอายุการเกษียณออกไป หรือแม้แต่แปลงทรัพย์สินที่มีอยู่และไม่เกิดประโยชน์เป็นทุนก็วิธีทางเลือกให้พิจารณาทั้งสิ้น

หรือถ้ายังอยากได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินเฟ้อจากการออมหรือการลงทุนอยู่ แต่ยังไม่อยากลงทุนกองทุนหุ้น หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ REIT เพราะทนไม่ไหวกับราคาหน่วยลงทุนที่ขึ้นๆ ลงๆ  ก็อยากให้ลองปรับใจ ในเมื่อไม่รับความผันผวนสูงๆจากกองทุนหุ้น แต่ถ้าเป็นกองทุนผสมที่เงินส่วนใหญ่ยังคงลงทุนในตราสารหนี้ แต่มีส่วนผสมหุ้นน้อยๆ  ผันผวนเพียงเล็กน้อย คิดว่ารับได้ไหม เพราะอย่างน้อยกองทุนผสมเหล่านี้ก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ หรือเงินฝากธนาคารเพียงอย่างเดียว และช่วยตอบโจทย์การสร้างผลตอบแทนที่งอกเงยโดยไม่ฝืนความรู้สึกจนเกินไปนัก