BBLAM Monthly Economic Review: มุมมองเศรษฐกิจ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดีย ปี 2023

BBLAM Monthly Economic Review: มุมมองเศรษฐกิจ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดีย ปี 2023

โดย ฐนิตา ตุมราศวิน ทีม Economic Research, BBLAM

ยูโรโซน

นับตั้งแต่ต้นปี 2022 GDP ของยูโรโซนที่ประกาศออกมาแล้ว 3 ไตรมาส เป็นภาพของการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จน ECB มีการปรับประมาณการในปีนี้ขึ้น กองทุนบัวหลวงเองก็มองว่าปีนี้ น่าจะโตประมาณ 3.2% จากตอนแรกที่เราคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2% ปลายๆ แม้ว่าจะเผชิญกับวิกฤติราคาพลังงานนับตั้งแต่ที่รัสเซียบุกเข้าไปในยูเครนเมื่อเดือนก.พ. และรัสเซียเองก็ลดการส่งก๊าซธรรมชาติลงอย่างต่อเนื่อง จนราคาก๊าซปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นถึง 10% แต่สิ่งที่เข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจไม่ได้แย่ลงไปมากตามที่เคยคาด มาจากการกลับมาของการท่องเที่ยวในช่วงหน้า High Season ช่วงไตรมาส 2 ต่อไตรมาส 3 เป็นหลัก ที่จะเห็นว่าการบริโภค โดยเฉพาะในภาคบริการขยายตัวได้ดี แต่สำหรับในไตรมาส 4 เราคาดว่า GDP น่าจะเริ่มติดลบเมื่อเทียบรายไตรมาส สำหรับนโยบายการเงินในปีนี้ เพื่อที่จะกดเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนี้ลง ECB จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และเป็นอีกปัจจัยที่เรามองว่าในระยะข้างหน้าก็ทำให้สภาพคล่องในตลาดลดลง และกดดันเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

ดังนั้น สำหรับในปีหน้า เราจึงคาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนยากที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่คำถามสำคัญ คือ จะเป็นภาวะถดถอยแบบรุนแรงหรือไม่ โดยเรามองว่าราคาก๊าซมีแนวโน้มยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะถ้าเทียบกับปี 2021 และเงินเฟ้อเอง แม้เราคาดว่าจะทยอยปรับลดลง แต่ก็ยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าเป้าหมายของ ECB ที่ 2% เนื่องจากตอนนี้ Core CPI ที่หักลบราคาอาหารสด และราคาพลังงานออก ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเยอะ สะท้อนว่า สินค้าอื่นๆ ได้ปรับราคาขึ้นตามไปแล้วเช่นกัน จากต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น แม้ราคาพลังงานจะปรับลดลงในปีหน้า แต่สินค้าและบริการที่ปรับราคาขึ้นไปแล้ว ก็มักจะไม่ค่อยปรับตามลงมา ที่เรียกกันว่า Sticky Inflation ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด

ด้านเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจรายเดือนต่างๆ ส่งสัญญาณอ่อนแอลงต่อเนื่อง ทั้ง ดัชนี PMI ที่หดตัว คือ อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุดมาหลายเดือน ส่วนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ในปัจจุบัน ตลาดมองโอกาสของการเกิด Recession ในอีก 12 เดือนข้างหน้าสูงถึง 80%

ด้านนโยบายการเงินในปีหน้า เรามองว่า ECB จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1-2 ครั้ง แต่ว่า หลังจากนี้น่าจะเป็นการขึ้นแบบในอัตราที่ชะลอลง ก่อนหน้านี้เคยขึ้นทีละ 75bps ก็จะลดลงมาเป็น 50bps และ 25bps นอกจากนี้ หลังการขึ้นดอกเบี้ยยังมีประเด็นการลดงบดุลของ ECB ที่เข้ามาทำให้ตลาดผันผวนได้ แต่เราคาดว่า จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้การลดสภาพคล่องกระทบกับเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว

ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น เราจึงคาดว่า ปีหน้า รัฐบาลแต่ละประเทศในยูโรโซนจะออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนมากขึ้น ทำให้ดุลการคลังมีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นในปี 2023 ก่อนจะดีขึ้นในปี 2024 ที่เราคาดว่าจะขาดดุลลดลง

สำหรับความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีความรุนแรงมากขึ้นได้ในปี 2023 คือ การปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติ หากความตึงเครียดด้าน Supply มีมากขึ้น ทั้งจากในกรณีที่รัสเซียลดหรือตัดการส่งก๊าซมายังยุโรป หรือแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ก็จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งภาคการผลิต การบริการ รวมไปถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และอัตราเงินเฟ้อที่หากยังอยู่ในระดับสูงนานขึ้น ก็จะทำให้นโยบายการเงินอาจจะต้องเข้มงวดต่อเนื่อง ยิ่งกดดันเศรษฐกิจให้ถดถอยรุนแรง ดังนั้น เราจึงต้องติดตามสถานการณ์เรื่องก๊าซธรรมชาติอย่างใกล้ชิด แม้ว่าปัจจุบันปริมาณก๊าซสำรองจะอยู่ในระดับที่สูงเกิน 90% ที่ทำให้ตลาดคลายความกังวลลงมาได้ในช่วงนี้ แต่การสะสมปริมาณก๊าซสำรองสำหรับใช้ในฤดูหนาวปีหน้าอาจจะเผชิญความท้าทายมากกว่า ว่าจะมีเพียงพอหรือไม่ ท่ามกลาง Supply ที่ดูเหมือนจะตึงตัวกว่าในปีนี้

ญี่ปุ่น

ในปี 2022 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังเผชิญการระบาดของ COVID-19 ทั้งในช่วงต้นปีและกลางปี โดยกลางปีมียอดผู้ติดเชื้อถึงวันละแสนกว่าคน ด้านปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก อย่างการส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply Disruption และความต้องการซื้อสินค้าในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเร่งตัวขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้โดยรวมญี่ปุ่นขาดดุลการค้าติดต่อมาแล้วกันถึง 15 เดือนตั้งแต่เดือนส.ค. 2021 และอีกปัจจัยที่กดดันให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัว คือ การอ่อนค่าของเยนอย่างหนักจากความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่าง Fed และ BoJ ที่ทำให้เยนอ่อนค่าไปแตะแถวๆ 150 เยนต่อดอลลาร์ฯ อ่อนที่สุดในรอบ 30 กว่าปี

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ คือ การเปิดประเทศที่ทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยว จนเดือนต.ค. ที่ผ่านมา เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ และกลับมาใช้มาตรการหนุนการท่องเที่ยวในประเทศด้วย การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เรามองว่า ปีหน้าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยกองทุนบัวหลวงคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 1.2% จาก 1.6% ในปีนี้ โดยสาเหตุที่เรามองว่าจะชะลอลง มาจากการส่งออกที่มีปัจจัยท้าทายค่อนข้างมากในปีหน้า โดยแม้ว่า เยนจะผ่านจุดพีคที่อ่อนค่าอย่างหนักไปแล้ว และทำให้ต้นทุนผู้ผลิตที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบปรับลดลง แต่ในด้านการส่งออกบริษัทที่มีรายได้เป็นดอลลาร์ฯ ก็จะได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งทั้งสองตลาดนี้รวมกันเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ถ้ามองในมุมของนักลงทุน เราจะเห็นว่า เมื่อใดที่เยนแข็งค่าขึ้นแรงๆ มักจะทำให้ดัชนีตลาดญี่ปุ่นต่างปรับลดลง จากการคาดการณ์ว่ารายได้ของหุ้นบริษัทส่งออกจะลดลง

ด้านเงินเฟ้อ ในปีหน้าเราคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในทุกๆ ปี ช่วงต้นปี สหภาพแรงงานญี่ปุ่นจะต่อรองกับนายจ้างเพื่อขึ้นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งจากเงินเฟ้อที่สูงในปีนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่สหภาพจะกดดันให้บริษัทต้องปรับขึ้นมากกว่าทุกปี และทำให้ BoJ มีแนวโน้มปรับคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นเกิน 2% ในระยะกลาง ประกอบกับว่า ในเดือนเม.ย. จะเปลี่ยนผู้ว่า BoJ คนใหม่แทนนายคุโรดะที่หมดวาระลง ทำให้นโยบายการเงินอาจกลับทิศทาง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ยิ่งจะทำให้เยนแข็งค่า

อินเดีย

ในปีนี้ เศรษฐกิจอินเดียแม้จะเผชิญกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ดุลการค้าขาดดุลสูง ค่าเงินรูปีอ่อนค่า และยังมีการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ รวมถึงการระบาดของ COVID-19 เป็นระยะ แต่ก็สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยส่วนหนึ่งมาจากความช่วยเหลือของรัฐบาลในการออกมาตรการต่างๆ รวมทั้งเข้าแทรกแซงค่าเงินในช่วงที่อ่อนค่าแรงด้วย สำหรับในปีหน้า เรามองว่า เศรษฐกิจอินเดียยังเติบโตได้ระดับที่สูงถึง 6% แม้ว่าจะเป็นอัตราที่ชะลอลงจากปีนี้ ที่เรามองว่าจะโตได้ประมาณ 7% เนื่องจากความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลของการขึ้นดอกเบี้ยของ RBI ในปี 2022 ที่เริ่มส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจและประชาชนมากขึ้น แต่ด้านเงินเฟ้อเรามองว่าจะค่อยๆ ทยอยปรับลดลง จากฐานที่สูงในปีนี้ และปัญหา Supply Chain ที่น่าจะเริ่มคลี่คลายอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในระยะกลางถึงระยะยาว เราคิดว่า อินเดียยังมีความน่าสนใจ ทั้งจากการถูกรวมเข้าไปใน Global Bond Index (GBI-EM index) ที่จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ส่วนในระยะยาวมีเรื่องของปัจจัยด้านประชากร โดยอินเดียมีแรงงาน และประชากรอายุน้อยจำนวนมาก ทำให้ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ทั้งในการของการบริโภคและการลงทุน รวมถึงนโยบาย Make in India ที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอินเดียมากขึ้นเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตที่สำคัญของโลก ซึ่งเราจะเห็นภาพการย้ายฐานการผลิตชัดขึ้นในช่วง COVID-19 ที่บริษัทต่างๆ เริ่มมองหาแหล่งผลิตอื่น นอกเหนือจากจีนที่เผชิญกับปัญหา Supply Chain Disruption อย่างรุนแรง