ปัญหาทางใจกับการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (ตอนจบ)

ปัญหาทางใจกับการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (ตอนจบ)

By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

BF Knowledge Center

3. ลงทุน DCA เสียโอกาสเสียจังหวะทำกำไรตอนหุ้นขาขึ้น

หุ้นมีขึ้นมีลง เวลาหุ้นขึ้นไปมากๆ เห็นกำไรเป็นกอบเป็นกำ เป็นธรรมดาที่ผู้ลงทุนจะคันไม้คันมืออยากขายเอากำไรออกมาก่อน แล้วคิดว่าพอลงค่อยไปซื้อกลับ แต่วิธี DCA เหมือนบังคับผู้ลงทุนไม่ให้ขายออก ไม่ให้ทำกำไรแบบนี้

เรื่องนี้มองให้ชัด เป็นเรื่องของการกลับไปติดกับดักของการเก็งกำไรตาม market timing ให้ “ขายตอนขึ้น ซื้อตอนลง” ที่ผู้ลงทุนทุกคนรู้เทคนิค อยากทำ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จริงๆ ว่าเมื่อไรจะขึ้น เมื่อไรจะลง

การที่ผู้ขายหน่วยลงทุน บริษัทกองทุน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ อย่างตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ก.ล.ต. แนะนำให้ลูกค้ากองทุนซื้อแบบถัวเฉลี่ย นอกจากเหมาะกับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เป็นรายเดือนแล้ว อีกเหตุผลคือ การแก้ปัญหาเรื่องความผิดพลาดของผู้ลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้าไปเก็งกำไร ซื้อๆ ขายๆ หุ้นหรือกองทุน แล้วกะเก็งผิด ซื้อขายผิดจังหวะ

สูญเสียไปเท่าไรกับวิธีง่ายๆ แบบนี้ ถามใจเธอดู

ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่จะมีสักกี่คนทำได้ ทำได้บ่อยแค่ไหน และคนคนนั้นใช่เราหรือเปล่า เราพร้อมไหมกับการทุ่มเท ติดตามตลาด เพื่อหาจังหวะซื้อๆ ขายๆ หุ้น  อีกทั้งวิธีนี้ไม่เหมาะที่ผู้ลงทุนจะนำมาใช้กับกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนหุ้นทั่วไปที่ไม่มีนโยบายเฉพาะเจาะจงในหุ้นเฉพาะกลุ่ม เพราะกองทุนหุ้นทั่วไปแบบนั้น มีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่ติดตามภาวะตลาดให้อยู่แล้ว

นอกจากนี้วินัยของการลงทุนรายเดือน ยังช่วยตัดปัญหาเรื่องความกลัวและความโลภของผู้ลงทุนอีกด้วย เพราะเวลาหุ้นตก ข่าวต่างๆ ก็เป็นข่าวร้าย คนมักจะกลัวไม่กล้วซื้อ  ขณะที่เวลาหุ้นขึ้นแรกๆ ก็กลัว ไม่กล้าซื้ออีก แต่จะเข้ากันเมื่อขึ้นไปเรื่อยๆ เริ่มกลัวตกขบวน เข้าไปซื้อกันตอนราคาหุ้นไปสูงๆ แล้ว แต่หากใช้ DCA ปัญหาเชิงจิตวิทยาเหล่านี้ก็จะหมดไป

4. ลงทุน DCA ไปทำไมกำไรได้ไม่เท่าซื้อครั้งเดียว

หลายคนที่เลือกวิธี DCA ไปนานๆ แล้วขยันเปรียบเทียบสักหน่อย เวลาตลาดดีๆ เมื่อลงทุนไปนานๆ ก็จะเจอปัญหาว่าทำไมเงินในพอร์ตหรือผลกำไรจากการลงทุนมันดูเชื่องช้า ไม่เหมือนกับการลงทุนรอบเดียวก้อนใหญ่ไปเลย ผลกำไรที่ต่างกันขนาดนี้ แล้วจะยังเสียเวลา DCA ไปทำไม
ประเด็นนี้ไม่แปลกครับ ลงทุนตูมเดียวตั้งแต่เริ่ม เวลาหุ้นขึ้นก็จะได้กำไรมากกว่าวิธี DCA อยู่แล้ว เพราะ DCA มีต้นทุนหลากหลาย ตามราคาที่ขึ้นลงในวันที่ซื้อสะสม ขณะที่ลงทุนก้อนใหญ่ก้อนเดียวตั้งแต่แรก ก็จะมีต้นทุนต่ำกว่า ดังนั้นจึงได้กำไรมากกว่าโดยเปรียบเทียบ

ถ้าเป็นแบบนี้จะลงทุน DCA ไปทำไม

เรื่องนี้ก็ต้องถามกลับว่าแล้วถ้าไม่ลงทุน DCA ให้ลงทุนตูมเดียวตั้งแต่วันแรก กล้าหรือไม่ และ มีเงินที่จะทำเช่นนั้นหรือไม่
ข้อดีของ DCA คือการทยอยลงทุน ไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ลงทุนตามเวลาของรายได้ที่เข้ามาแต่ละเดือน จึงเหมาะกับมนุษย์เงินเดือน หรือคนวัยทำงาน ที่ไม่ได้ที่ทรัพย์สินมากตั้งแต่เริ่มต้น ช่วยกระจายความเสี่ยงเรื่องจังหวะการลงทุนเพราะมีการกระจายซื้อในหลายๆ ราคา ได้ต้นทุนที่แตกต่างกัน

วิธี DCA จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างวินัยในการลงทุน ไม่ได้มีเงินก้อนเพียงพอในการลงทุนครั้งเดียว และทำให้เกิดการลงทุนจริง เพราะไม่ต้องรอคอยรวบรวมเงินเป็นก้อนก่อนลงทุน แม้จะได้กำไรไม่เท่าการลงทุนรอบเดียวตั้งแต่วันแรก แต่เป็นวิธีที่ทำให้เกิดการลงทุนจริงได้ดีกว่า
จะเห็นว่าปัญหาหลายอย่างของ DCA เป็นเรื่องของความคิดและจิตใจของนักลงทุนที่รู้สึกเสียอิสรภาพในการตัดสินใจมากกว่า รวมถึงมองว่าทำให้เสียโอกาสที่จะได้กำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ซึ่งในโลกของการลงทุน ต้องไม่ลืมว่าความคาดหวังกับความจริง มักไม่ค่อยไปด้วยกัน โดยเฉพาะคนที่มองโลกในแง่ดีเกินไป และเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป