BBLAM Weekly Investment Insights 1-5 พฤษภาคม 2023

BBLAM Weekly Investment Insights 1-5 พฤษภาคม 2023

2023 – The Rise of Asia

INVESTMENT STRATEGY

By BBLAM

“รัฐบาล Jokowi ตระหนักถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งของทรัพยากรนิกเกิลและสนับสนุนการทำธุรกิจปลายน้ำในประเทศ เพียงไม่เกิน 2 ปี อินโดนีเซียได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิต Stainless Steel ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่ประเทศจีน ​​​”

คุณเสกสรร โตวิวัฒน์, CFP® Assistant Managing Director จาก BBLAM สัปดาห์นี้มาชวนดูกันหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นของอาเซียนที่ทำให้ภูมิภาคนี้น่าสนใจลงทุน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การปั้นแร่ธาตุจากดินให้เป็นอุตสาหกรรมการผลิตระดับโลก

อินโดนีเซียมีสินแร่มาก

Fund Investment จาก BBLAM อินโดนีเซียเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุและมีการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเยอะมาก  แต่ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจเหมืองแร่ยังคงเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจโดยรวม โดยมูลค่าของธุรกิจเหมืองแร่และถ่านหิน คิดเป็นเพียง 5% ของ GDP ในปี 2019 ทำให้อินโดนีเซียพยายามมองหาโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจเหล่านี้

สินแร่แรกที่อยากพูดถึง คือ ถ่านหิน เพราะ อินโดนีเซีย นับเป็นประเทศผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย ในปี 2022 เมื่อกลุ่มสหภาพยุโรปจำกัดการนำเข้าถ่านหินและก๊าซจากรัสเซีย ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมากขึ้นแทน

แต่การที่ประเทศต่าง ๆ พยายามลดใช้ถ่านหิน ตรงนี้อินโดนีเซียก็ได้รับผลกระทบด้วย แม้ว่าตัวเลขการผลิตและการส่งออกถ่านหินของอินโดนีเซียจะยังคงเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากถ่านหินยังเป็นพลังงานที่สำคัญของโลก  แต่การใช้ถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียเองนั้นกลับมีแนวโน้มลดลง ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมายในการลดคาร์บอน ซึ่งการประชุม G20 ที่เกาะบาหลี เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2022 

อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ร่วมกันจัดตั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ Just Energy Transition Partnership (JETP) เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ในประเทศอินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การทำให้เกิด Net Zero Target ภายในปี 2050 การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาเป็น 34% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2050 รวมไปถึงการลดและจำกัดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาอินโดนีเซียยังเริ่มเก็บภาษี Carbon Tax รวมถึงให้ Incentive แก่ผู้ที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ อีกทั้งยังร่วมมือกับประเทศสิงคโปร์เพื่อพัฒนา Platform และกำหนดราคาเพื่อนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

อินโดนีเซียทดแทนรายได้ด้วยการปั้นแร่ธาตุให้กลายเป็นอุตสาหกรรมระดับโลก

แผนงานของอินโดนีเซีย คือ มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจปลายน้ำของทรัพยากรแร่ธาตุ โดยเฉพาะนิกเกิล ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตนิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 30% และเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองนิกเกิลที่สูงที่สุดในโลกที่ 22% รัฐบาล Jokowi ตระหนักถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งของทรัพยากรนิกเกิลและสนับสนุนการทำธุรกิจปลายน้ำในประเทศ จึงทำให้เริ่มห้ามการส่งออกนิกเกิลตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมถึง 2 ปี

นิเกิลเป็นแร่สำคัญในการผลิตสแตนเลสครับ มีความต้องการสูง ก่อนที่ทางอินโดนีเซียจะประกาศห้ามส่งออกนิกเกิล โรงหลอมในประเทศจีนก็นำเข้านิกเกิลจากอินโดนีเซียมาใช้ผลิต Stainless Steel และ Alloy เองในประเทศ แต่หลังจากมีมาตรการห้ามส่งออกเกิดขึ้น อินโดนีเซียก็ได้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงของบริษัทจีนที่เข้ามาทำธุรกิจสร้างโรงหลอมและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของธุรกิจสินแร่ให้กับประเทศ ในปี 2021 อินโดนีเซียได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิต Stainless Steel ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่ประเทศจีน และมีมูลค่าการส่งออก Stainless Steel ที่สูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯเทียบกับเมื่อสิบปีก่อนที่เพียง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น

ปัจจุบัน Stainless Steel เป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับที่ 3 ของอินโดนีเซีย รองจากถ่านหินและน้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมเหล็กเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ความสำเร็จในการผลักดันการสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจสินแร่ที่กล่าวมาข้างต้นประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อินโดนีเซียมีดุลบัญชีการค้าและสถานะทางการคลังที่แข็งแกร่งในปี 2021-2022 ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินมีเสถียรภาพและทิศทางตลาดหุ้นมีความโดดเด่นกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

อินโดนีเซียยังต่อยอดธุรกิจปลายน้ำอะไรอีก

นิกเกิลเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย เพราะนิกเกิลเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมอิออนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันการใช้นิกเกิลในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นเพียง 5% ของการใช้นิกเกิลทั้งหมด แต่คาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% ในปี 2025 สอดคล้องกับเรื่อง Climate Change และแนวโน้มการลดใช้คาร์บอน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคันจะใช้นิกเกิลมากกว่ารถยนต์ธรรมดาถึง 7-15 กิโลกรัม อีกทั้งคาดการณ์ว่า สัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะสูงถึง 30% ของการใช้รถทั้งหมดในปี 2025 เทียบกับ 12% ณ ระดับปัจจุบัน

  • รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งมั่นที่จะทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสร้างห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจรให้สำเร็จภายในปี 2024
  • นอกจากรถยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อแล้ว อินโดนีเซียยังมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 2 ล้อด้วย เนื่องจากอินโดนีเซียมีตลาดรถ 2 ล้อที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจากอินเดียและจีน ในปี 2020 อินโดนีเซียมีจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันสูงถึงกว่า 110 ล้านคัน ซึ่งปัจจุบันราคารถยนต์ไฟฟ้า 2 ล้อมอเตอร์ไซค์ที่ใช้น้ำมันก็ใกล้กันแล้ว โอกาสตรงนี้จึงสูงมาก
  • รัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าการเดินทางสาธารณะจะกลายเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดภายในอีก 5 ปีข้างหน้า มีการเร่งขยายสถานีชาร์ตและสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดภาษีฟุ่มเฟือยเหลือ 0% จากที่เก็บ 9-20% สำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

นอกเหนือจากนิกเกิลแล้ว อินโดนีเซียยังตั้งใจจะพัฒนาธุรกิจปลายน้ำของ bauxite ทองแดง และดีบุกในระยะต่อไป ซึ่งกลยุทธ์การเติบโตธุรกิจปลายน้ำได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศอินโดนีเซียครับ

BBLAM แนะนำกองทุน

กองทุนลงทุนเอเชีย : B-ASIA หรือกองทุนลดหย่อนภาษี ได้แก่ B-ASIARMF และ B-ASIASSF

กองทุนลงทุนอาเซียน : B-ASEAN หรือกองทุนลดหย่อนภาษี ได้แก่ B-ASEANRMF

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/bblam-investment-insights/1-5-2023