โดย ศิรารัตน์ อรุณจิตต์ BBLAM
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะกินสัดส่วนมากกว่าครึ่งของจีดีพี ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของปี 2022 ซึ่งรวบรวมโดยเว็บไซต์ The Global Economy พบว่า ในบรรดาจำนวน 96 ประเทศที่ได้รวบรวมข้อมูล มีประเทศที่มีสัดส่วนของการบริโภคภาคเอกชนมากกว่าร้อยละ 50 ถึง 73 ประเทศ โดยประเทศไทย มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 56 ใกล้เคียงกับประเทศนิวซีแลนด์
จากความสำคัญของภาคการบริโภคที่จะส่งต่อมายังการเติบโตของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ จึงนำมาซึ่งการศึกษาแนวโน้มการบริโภคในอนาคตข้างหน้าว่า กลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญจะเป็นอย่างไร โดยจากบทวิเคราะห์ของ HSBC ได้ระบุปัจจัยหลักที่นำมาทำการศึกษา ได้แก่ คุณลักษณะด้านประชากร อัตราการเติบโตของรายได้ และพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยพบว่า ในปี 2030 จะมีกลุ่มประชากรที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง เพิ่มมากขึ้น 500 ล้านคนทั่วโลก และจะเพิ่มอีก 500 ล้านคนในปี 2040
เท่ากับว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า จะมีกลุ่มคนที่มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นราว 1,000 ล้านคน ซึ่งสัดส่วนการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะโดดเด่นที่ภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา นอกจากนี้ แนวโน้มการใช้จ่ายในแต่ละกลุ่มสินค้าจะเปลี่ยนไปตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่า มีโอกาสที่ผู้บริโภคจะเพิ่มการใช้จ่ายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เฟอร์นิเจอร์ และสินค้า High-End
จากภาพใหญ่แนวโน้มการบริโภคทั่วโลก หากเรามองลึกลงไปในกลุ่มอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการบริโภคประมาณร้อยละ 60 ของจีดีพี และจากข้อมูลของ World Economic Forum ได้ระบุว่า ในปี 2030 จีดีพีของกลุ่มอาเซียนจะอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจำนวนประชากรจะอยู่ที่ 723 ล้านคน ซึ่งจะมีประชากรถึง 140 ล้านคนที่กลายมาเป็นผู้บริโภคหน้าใหม่ ทั้งนี้ ในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศนั้น จะมีกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคเติบโตอย่างโดดเด่น คือ กลุ่ม Emerging ASEAN ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
การเติบโตของภาคการบริโภคในอนาคตของกลุ่มอาเซียน จะมาจากการขับเคลื่อนผ่าน 4 กุญแจสำคัญ ได้แก่
Favorable Demographics คุณลักษณะของประชากรที่มีความแข็งแกร่ง ทั้งในแง่ของจำนวนประชากรวัยทำงาน ต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ และการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2030 อาเซียนจะมีประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ล้านคน (ประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในอินโดนีเซีย) ต้นทุนค่าแรงงานในกลุ่ม Emerging ASEAN ที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่งยังคงเป็นแรงดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น มีช่องว่างของการผลิตที่ยังเติบโตได้อีกมาก
Rising Income Levels การเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ส่งผลต่ออำนาจการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มมากขึ้น โดยภาพรวมแล้ว GDP Per Capita ของทั้งกลุ่มจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 4% ต่อปีไปสู่ระดับ 6,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2030 ซึ่งประเทศที่มีอัตราการเติบโตของรายได้สูง จะเป็นกลุ่ม Emerging ASEAN โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 8% ต่อปี จาก 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สู่ระดับ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ
Shifts in Global Geopolitics and Local Regulations การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ได้เปิดกว้างต่อการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากต้นทุนค่าแรงที่ต่ำจะเป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้ว การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อสนับสนุนภาคการค้ามากขึ้นนั้น ช่วยเป็นแรงส่งเสริมการลงทุน และความสามารถในการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไป
Digital Tailwinds ความก้าวหน้าทางดิจิทัลทำให้ตลาดของผู้บริโภครายใหม่ขยายตัวได้มากขึ้น ความนิยมและการเข้าถึงดิจิทัลจะเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคจำนวนมากนิยมสั่งซื้อสินค้าและใช้เวลาบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐของประเทศต่างๆ ก็มีเป้าหมายในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเชื่อมต่อภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคผู้บริโภคให้เชื่อมถึงกันได้ง่ายขึ้น
จากแนวโน้มผู้บริโภคของอาเซียนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ Emerging ASEAN อันได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะเห็นได้ถึงโอกาสตลาดการบริโภคที่จะขยายเติบโตมากขึ้น นำมาสู่การลงทุน การขยายตัวทางธุรกิจ และส่งผลต่อมายังการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ การลงทุนในกลุ่มประเทศดังกล่าวจึงยังมีความน่าสนใจ และเชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต