By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
BF Knowledge Center
กองทุนรวมที่จ่ายปันผล ยังคงเป็นที่นิยมจากผู้ลงทุนจำนวนมาก เพราะได้เงินกลับคืนระหว่างการลงทุนไปใช้ หรือสร้างความพอใจว่าลงทุนไปแล้วยังได้จับต้องดอกผลบ้าง แม้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา จะต้องแลกกับการเสียภาษีเงินปันผลทำให้ผลตอบแทนที่ตกถึงมือลดลงก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะประทับใจกับกองทุนที่จ่ายปันผล หากกองทุนนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ได้ ‘ตรง’ กับความต้องการ
ในแง่การบริหารเงินส่วนบุคคล กองทุนรวมที่จ่ายปันผล มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ขึ้นกับว่าวัตถุประสงค์การลงทุนมีเป้าหมายอะไรกันแน่
- ต้องการได้เงินคืนระหว่างการลงทุน
- ต้องการเงินปันผลไปใช้จ่าย
- ต้องการลงทุนยาวๆ เพื่ออนาคต
- อื่นๆ
การจะลงทุนกองทุนที่จ่ายปันผลให้มีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ใช่เรื่องยากหากนักลงทุนเข้าใจรูปแบบ และวิธีออกแบบกองทุนประเภทนี้เสียก่อน
- กองทุนปันผลที่นิยมในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสม
นโยบายการจ่ายเงินปันผลสามารถกำหนดได้กับกองทุนรวมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้น กองทุนผสม กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนกองทุนตราสารหนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ที่จะนำมาจ่ายปันผลต่ำตามไปด้วย จึงไม่คุ้มค่าและจูงใจให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะกับบุคคลธรรมดา กองทุนตราสารหนี้จึงไม่นิยมมีนโยบายจ่ายปันผล มีบ้างสำหรับกองทุนตราสารหนี้ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ลงทุนที่เป็นนิติบุคคล เพราะสามารถลงทุนยาวและได้สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินปันผลได้
ดังนั้นการลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผล ที่หลายคนมองว่าช่วยลดความเสี่ยงเพราะได้เงินคืนระหว่างการลงทุนมาแล้ว จึงไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่จะมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง เนื่องจากเป็นกองทุนหุ้นและกองทุนผสมมากกว่า
- การที่กองทุนจะจ่ายปันผลหรือไม่ จะขึ้นกับผลการดำเนินงานในงวดนั้นๆ และข้อความที่เขียนไว้ในหนังสือชี้ชวน
หลายครั้งที่ผู้ลงทุนผิดหวังเพราะกองทุนงดจ่ายปันผล เพราะเกิดขาดทุนสุทธิในงวดนั้นๆ หรือไม่มีกําไรสะสมให้นำมาจ่าย หรืออาจจะเกิดจากเม็ดเงินที่จ่ายได้มีน้อยเกินไป ไม่คุ้มค่าในการจ่ายหากเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานที่เกิดขึ้น
นอกจากนั้น อัตราการจ่ายที่ระบุไว้ในนโยบายกองทุนก็จะมีผลต่อการจ่ายได้หรือไม่ได้ของกองทุนได้ด้วย เช่น กองทุนหุ้น A มีนโยบายการจ่ายปันผล ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของกำไรในงวดบัญชีนั้น ขณะที่กองทุนหุ้น B จ่ายปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 แสดงว่าในงวดนั้นๆ มีกำไรเท่าไร กองทุน A ก็จะจ่ายออกมาเกือบหมด จ่ายแต่ละครั้งจึงดูเยอะ กำไรเท่าไรผู้ถือหุ้นเอาไปเลย ว่ากันเป็นงวดๆ ขณะที่กองทุน B ผู้จัดการกองทุนอาจจะพิจารณาแล้วว่า จ่ายแค่ร้อยละ 60 ของกำไรงวดนั้นก็พอ แล้วเก็บที่เหลือไว้ลงทุนต่อเพราะมองเห็นโอกาส ก็จะจ่ายเม็ดเงินออกมาให้น้อยกว่า ไม่ใช่ว่ากองทุน B บริหารสู้กองทุน A ไม่ได้ แต่เป็นเพราะนโยบายและมุมมองที่ต่างกัน
นอกจากนั้น ถ้างวดถัดไปตลาดหุ้นตก หุ้นในพอร์ตของทั้งกองทุน A และ B ราคาลดลง กองทุน A ก็จะประกาศงดจ่ายปันผลเพราะไม่มีกำไรสุทธิและกำไรสะสมมาจ่าย ขณะที่กองทุน B ยังมีกำไรสะสมเหลืออยู่ก็อาจจะนำออกมาจ่ายปันผลในงวดนี้ให้กับผู้ลงทุนได้ ดังนั้นการที่กองทุนหนึ่งจ่ายปันผลได้ อีกกองทุนหนึ่งจ่ายไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ากองทุนที่จ่ายได้ผลงานดีกว่าเช่นกัน