By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
BF Knowledge Center
ในตอนที่แล้วได้เล่าถึงรูปแบบและธรรมชาติของกองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผลไปแล้ว 2 ประเภท เรามาต่อกันในเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับกองทุนประเภทนี้กันในข้อต่อไปครับ
- ช่วงเวลาการพิจารณาจ่าย มีทั้งแบบแน่นอนและไม่แน่นอน
กรณีนี้หมายถึงงวดการพิจารณาว่าจะจ่ายปันผลหรือไม่ ถ้าเป็นกองทุนที่จัดตั้งมานานแล้ว มักจะมีรอบการพิจารณาแน่นอนและเขียนไว้ในหนังสือชี้ชวนชัดเจน เช่น พิจารณาปีละ 2 งวด ได้แก่ ม.ค. – มิ.ย. และ ก.ค. – ธ.ค. หรือ 4 งวด ตามไตรมาส เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีกองทุนรวมที่จัดตั้งในช่วงหลัง เลือกที่จะไม่ระบุชัดเจน ในรอบการพิจารณาจ่ายปันผล แต่เขียนไว้กว้างๆ เช่น งวด 1 ปี แล้วในระหว่างปีหากมีกำไรก็ใช้การพิจารณาของผู้จัดการกองทุน ประกาศจ่ายเงินปันผลออกมาในช่วงเวลาที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น ช่วงตลาดหุ้นดีๆ มีการทำกำไรจากการขายหุ้นได้ต่อเนื่อง ก็อาจจะจ่ายถึง 5-6 ครั้งต่อปี
แต่การจ่ายแบบนี้ ในแต่ละงวดผู้ลงทุนก็จะไม่ได้เงินปันผลเป็นก้อนใหญ่ เพราะถูกแบ่งจ่ายบ่อยเป็นก้อนเล็กๆ แต่ในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง หุ้นในพอร์ตขาดทุนและไม่มีกำไรสะสมก็ไม่สามารถจ่ายปันผลได้เช่นกัน
ประเด็นนี้ผู้ลงทุนสามารถดูนโยบายที่เขียนไว้ รวมถึงประวัติการจ่ายปันผลที่ผ่านมา ก็พอจะทราบได้ว่าผู้จัดการกองทุนนั้นๆ มีสไตล์การจ่ายเงินปันผลแบบใด
- การจ่ายปันผลของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง REIT
กองทุนกลุ่มนี้มีความพิเศษเฉพาะ แตกต่างจากกองทุนหุ้นอื่นๆ ที่เป็นกองทุนเปิดซื้อขายผ่านตัวแทนได้เรื่อยๆ แต่เป็นกองทุนปิดที่เสนอขายและเพิ่มทุนเป็นครั้งๆ เพื่อระดมเงินไปลงทุนในทรัพย์สิน หรือสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิของรายได้หักค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ช่วงสถานีชุดแรก ของ BTSGIF เป็นต้น การลงทุนรูปแบบนี้ และมีรายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรแต่ละงวดที่พอประมาณการได้ จึงคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนได้ไม่ยากนัก เช่น จากค่าเช่าอาคารสำนักงานพื้นที่ศูนย์การสินค้า โครงข่ายอินเตอร์เน็ต ฯลฯ เปรียบเสมือนลงทุนด้วยการซื้อหรือเซ้ง แล้วปล่อยเช่าเก็บกินค่าเช่า เพื่อให้สอดคล้องกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ลักษณะเก็บกินผลตอบแทนเรื่อยๆ กองทุนกลุ่มนี้จึงมีกฎชัดเจนว่าจะต้องนำกำไรเกือบทั้งหมดในงวดออกมาจ่ายปันผลในงวดที่พิจารณา (ที่ค่อนข้างแน่นอน) เช่นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิ
ดังนั้นผู้ลงทุนที่เน้นผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมอในรูปเงินปันผล ก็อาจพิจารณาเลือกกองทุนกลุ่มนี้เพื่อตอบโจทย์ได้ แต่ต้องตระหนักว่า ไม่ว่าเราจะมั่นใจในกองทุนหรือทรัพย์สินของกองทุนแค่ไหน ในโลกการลงทุนความเสี่ยง ความไม่แน่นอน และความเสี่ยงยังคงมีอยู่เสมอ
- ผลตอบแทนที่ประกาศตามเกณฑ์สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และผลตอบแทนจริงของกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเปรียบเทียบวัดความสามารถของผู้จัดการกองทุนได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล สมาคมบริษัทจัดการลงทุน จึงกำหนดให้มีสมมุติฐานว่ามีการนำเงินปันผล (ที่ไม่ถูกหักภาษี) กลับเข้าไปลงทุนต่อ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลของกองทุนรวมทั่วโลก ซึ่งในความเป็นจริง น้อยมากที่ผู้ลงทุนจะทำเช่นนั้น ดังนั้นผลตอบแทนจริงของการลงทุน ขึ้นกับว่าผู้ลงทุนนำเงินปันผลไปลงทุนอะไรหรือไม่ หรือเอาไปใช้จ่ายเลย
- เงินปันผลที่จ่ายในอัตราเดียวกัน อาจให้ผลตอบแทนนักลงทุนไม่เท่ากัน เพราะภาษี
ผลตอบแทนจากเงินปันผล ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนไม่เท่ากัน เนื่องจากภาษี ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะให้หัก ณ ที่จ่าย 10% ไปเลย หรือเลือกไปยื่นแบบ ภงด.90 ประจำปี หากคำนวณแล้วอัตราภาษีสูงสุดในปีนั้นต่ำกว่า 10%