รถไฟฟ้าจากจีนเตรียมเจอความท้าทายครั้งใหญ่ หลังสหภาพยุโรป เตรียมประกาศอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าจะทำให้บรรดาผู้นำเข้ารถยนต์จากจีนในยุโรปจะมีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ ในเยอรมนี วิตกกังวลว่า การจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจะนำไปสู่สงครามการค้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ระหว่างยุโรปและจีน
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีกำหนดเปิดเผย ตัวเลขการตั้งกำแพงภาษีรถไฟฟ้าจากจีน อย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้ โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราการเก็บภาษีรถไฟฟ้าจากจีน ซึ่งเดิมอยู่ที่ 10% อาจเพิ่มขึ้นไปอีก 10 ถึง 25% และหมายความว่า ผู้นำเข้ารถจากจีนในยุโรป จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่ออัตราภาษีทุกๆ 10%
รถไฟฟ้าจากจีนที่ยุโรปนำเข้า และจะได้รับผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษี มีทั้ง บีวายดี เอ็มจี และจีลี่ ไปจนถึงรถไฟฟ้าเทสลาของสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตในจีน มาตรการครั้งนี้มีขึ้น 1 เดือนหลังจากรัฐบาลสหรัฐ ตั้งกำแพงภาษีรถไฟฟ้าจากจีนในอัตรา 100%
“เออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป มองว่า จำเป็นต้องตั้งกำแพงภาษีเพื่อป้องกันรถไฟฟ้าจากจีนครองตลาดยุโรป หลังพบว่า สัดส่วนรถไฟฟ้า จากจีนในตลาดยุโรปพุ่งจากต่ำกว่า 1% ในปี 2562 เป็น 8% ในปัจจุบัน และอาจเพิ่มเป็น 15% ภายในปี 2568
อย่างไรก็ตาม มาตรการกำแพงภาษี ยังไม่มีการบังคับใช้จนกว่าจะถึงช่วงเดือน ต.ค. ยังมีเวลาให้จีนกับยุโรปเจรจาเพิ่มเติม ส่วนกลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์ในเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้สั่งนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีน ก็แสดงความกังวลว่า ยุโรป จะถูกรัฐบาลจีนตอบโต้จนกลายเป็นสงครามการค้า
ด้านเดอะไทมส์ หนังสือพิมพ์รายวันของอังกฤษ รายงานว่า วอลโว่ บริษัทผู้ผลิต รถยนต์สัญชาติสวีเดน ซึ่งมีบริษัทจีลี่ของจีน ถือหุ้นใหญ่ เริ่มย้ายสายการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่น EX30 และ EX90 จากจีนไปยังประเทศเบลเยียม เนื่องจากคาดการณ์ว่า อียูจะกวาดล้างสินค้านำเข้าจากจีนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง
ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงาน ในช่วงที่ผ่านมาว่า การลงทุนของบริษัทจีน ในยุโรปในปี 2566 ลดลงสู่ระดับต่ำสุด ในรอบกว่า 10 ปี โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
รายงานล่าสุดจากโรเดียมกรุ๊ป และสถาบันจีนศึกษาเมอร์เคเตอร์ในเยอรมนี ระบุว่า บริษัทจีนลงทุน 6.8 พันล้านยูโร ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ และสหราชอาณาจักรในปี 2566 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 โดยเงินลงทุนใหม่ เกือบ 70% มุ่งไปที่ด้านที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่
การลงทุนที่ชะลอตัวลงนี้ยังเกิดขึ้นสวนทางกับธุรกิจจีนที่เบ่งบานในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากจีนไปยังต่างประเทศนั้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559
ตัวเลขที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างยุโรปกับจีน และมีแนวโน้มเลวร้ายลง เนื่องจากสหภาพยุโรปเตรียมที่ จะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งออกจากจีน ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจกระตุ้นให้ปักกิ่ง ดำเนินมาตรการบางอย่างเพื่อตอบโต้
เมื่อปีที่แล้ว ประเทศฮังการีได้รับเงินลงทุนจากจีนมากที่สุดในยุโรป โดยมีมูลค่า 3 พันล้านยูโร คิดเป็น 44% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ไหลเข้าสู่ยุโรปสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของบริษัท Contemporary Amperex Technology Co. (CATL) และโรงงานผลิตของบริษัท Zhejiang Huayou Cobalt Co.
ทั้งนี้ คาดว่าข้อตกลงที่ประกาศระหว่างการเยือนฮังการีของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะดึงดูดการลงทุนจากจีนเพิ่มเติม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฮังการี สร้างงานใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี
รายงานของโรเดียมยังระบุถึงโครงการแบตเตอรี่ใหม่หลายโครงการที่เกิดขึ้นจาก นักลงทุนจีนทั่วทั้งทวีปยุโรป บ่งชี้ว่าการลงทุนในฮังการี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าจะยังคงดำเนินต่อไปในยุโรป
เมื่อโครงการเหล่านี้เปิดดำเนินการจะทำให้บริษัทจีนสามารถเลี่ยงภาษีนำเข้าได้โดยการผลิตในยุโรป และลดต้นทุนโดยการอยู่ใกล้กับซัพพลายเออร์ และลูกค้ามากขึ้น ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง
ที่มา: รอยเตอร์