ตลาดค้าปลีกออนไลน์หรือ E-Commerce ในอาเซียนมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แต่มีศักยภาพการเติบโต โดยได้แรงสนับสนุนจากปัจจัยต่างๆ อาทิ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่สูงขึ้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ขยายวงกว้างขึ้น และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ที่เข้มข้นขึ้น ทั้งหมดกำลังช่วยผลักดันให้ตลาดในภูมิภาคนี้มีอัตราการเติบโตที่สูงต่อไปในอนาคต
ตามรายงานของ เอ. ที. เคียร์เน่ บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำของโลก ตลาดค้าปลีกออนไลน์ใน 6 เศรษฐกิจหลักของอาเซียน (ASEAN 6) ซึ่งประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีมูลค่ารวมราว 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสิงคโปร์มีขนาดใหญ่สุดราว 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียอยู่ในอันดับสองร่วมกันราว 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยมีขนาดตลาดราว 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายงานระบุว่า ตลาดค้าปลีกออนไลน์ในกลุ่ม ASEAN 6 ยังค่อนข้างเล็ก คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของตลาดค้าปลีกออนไลน์ทั้งโลก ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่ม ASEAN 6 คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 3-4 ของจีดีพีโลก หากดูรายละเอียดรายประเทศจะพบว่า ค้าปลีกออนไลน์ในสิงคโปร์คิดเป็นร้อยละ 5 ของช่องทางค้าปลีกทั้งประเทศ ขณะที่ประเทศที่เหลือมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเพียงร้อยละ 1 ซึ่งยังน้อยมากเมื่อเทียบกับจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป ซึ่งอยู่ราวร้อยละ 6-8 แต่ก็แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะเติบโตของตลาดค้าปลีกออนไลน์ในภูมิภาคแห่งนี้
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ตลาดค้าปลีกออนไลน์ในอาเซียนเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี ทว่า เอ. ที. เคียร์เน่ คาดการณ์ว่า ตลาดมีโอกาสที่จะเติบโตในระดับสูงถึงร้อยละ 25 ต่อปีต่อไป เนื่องมาจาก (1) กำลังซื้อของผู้บริโภคที่สูงขึ้น จากประชากรชนชั้นกลางซึ่งกำลังขยายตัว (2) การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ขยายวงกว้างขึ้น รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาระบบจ่ายเงินออนไลน์ และ (3) การนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านออนไลน์ที่มากขึ้น เนื่องจากการเปิดตัวของเว็บไซต์ E-Commerce ต่างๆ
เมื่อธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ระดับโลกรุกหนักขึ้น
ด้วยความหอมหวานของตลาดค้าปลีกออนไลน์ในอาเซียน ผู้เล่นระดับโลกหลายรายต่างเข้ามาขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ เช่น “อาลีบาบา” ทุ่มเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “ลาซาด้า” บริษัทค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยมูลค่าซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 และยังได้ประกาศซื้อหุ้นลาซาด้าเพิ่มจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 83% ในเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา
บริการของลาซาด้าครอบคลุมทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน 6 ดำเนินการคลังสินค้า 12 แห่ง และศูนย์กระจายสินค้า 92 แห่ง รวมทั้งมีพันธมิตรในการจัดส่งสินค้ามากกว่า 100 ราย บริษัทยังคงรุกขยายเครือข่ายด้านจัดส่งสินค้าในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าซื้อ “เรดมาร์ท” ร้านขายของชำออนไลน์ในสิงคโปร์ ที่ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตและรอรับสินค้าได้ที่บ้าน เรดมาร์ทยังมีแผนเข้าไปทำธุรกิจเร็วๆ นี้ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย
นอกจากอาลีบาบาแล้ว “อเมซอน” ซึ่งเป็นค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา ยังมีแผนจะเข้ามาขยายธุรกิจในสิงคโปร์ และประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนเร็วๆ นี้เช่นกัน
ผู้ค้าปลีกดั้งเดิมจำเป็นต้องปรับตัว
ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการค้าปลีกออนไลน์ ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ต่อสู้ต่อไปได้ อย่างเช่น “กลุ่มเซ็นทรัล” ซึ่งรุกธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์หลัก Central.co.th โดยคาดหวังให้เป็นระบบ “ออมนิแชนเนล” นั่นคือ ผสมผสานค้าปลีกทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัลคาดหวังว่า ภายใน 5 ปี ยอดขายจากช่องทางออนไลน์จะเติบโตเป็นร้อยละ 15 ของยอดขายทั้งหมด จากปัจจุบันอัตราส่วนนี้ยังอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 1
ในทำนองเดียวกันกับกลุ่มเซ็นทรัลในไทย “ลิปโป้กรุ๊ป” หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้ามาตาฮารี ได้เข้ามารุกในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ผ่านทาง MatahariMall.com โดยคาดหวังให้เป็นผู้เล่นที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม บริษัทคาดว่าจะมียอดขายผ่านทางออนไลน์แตะ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2560 นี้ และคาดหวังว่าช่องทางออนไลน์จะคิดเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายค้าปลีกของลิปโป้กรุ๊ปในอนาคต
เช่นเดียวกันกับ “เอสเอ็ม” ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของฟิลิปปินส์ ที่เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ด้วยการเปิดเว็บไซต์ของตนเอง เพื่อหวังที่จะตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งสร้างระบบออมนิแชนเนล ผนวกช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน เช่น ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ และรับสินค้าที่สาขาที่ต้องการ
ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในปัจจุบันและในอนาคต
แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในอาเซียนจะอยู่ในระดับสูง แต่การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งการแข่งขันจากผู้ประกอบการค้าปลีกออนไลน์ระดับโลก ผู้ประกอบการค้าปลีกดั้งเดิม หรือแม้กระทั่งบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ ที่เริ่มเข้าสู่สนามแขงขัน ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่อย่างวอลมาร์ต ได้ทยอยปิดสาขาไปแล้วนับร้อยสาขา รวมทั้งยอดขายในไม่กี่ปีที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว จากที่เคยเติบโตอย่างมากในอดีต ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างในอาเซียนนั้น การทยอยเปิดสาขาใหม่ของห้างค้าปลีกยังคงพบเห็นได้เรื่อยๆ รวมทั้งยังเติบโตในระดับน่าพอใจ แต่ทว่าผู้เล่นในอุตสาหกรรมหลายรายเห็นตรงกันว่า ในท้ายที่สุด ค้าปลีกออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่จะรวดเร็วและรุนแรงขนาดไหน และจะกระทบกับความอยู่รอดของค้าปลีกดั้งเดิมมากแค่ไหนนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ยากจะตอบ และต้องติดตามกันต่อไป
ณัฐพล ปรีชาวุฒิ
กองทุนบัวหลวง