เกษียณสุข ทำอย่างไร (ตอนจบ)

เกษียณสุข ทำอย่างไร (ตอนจบ)

By…สุดารัตน์ ทิพยเทอดธนา
Portfolio Management

  1. เตรียมเงิน การเตรียมเงินนั้น นอกจากจะสำรองเงินสะสมเอาไว้แล้ว ยังต้องเตรียมรูปแบบการใช้จ่ายไว้ด้วย ตัวดิฉันเองก็เป็นหนึ่งคนที่เริ่มเตรียมพร้อมในด้านนี้ไว้เหมือนกัน แม้ว่าระยะเวลาที่เกษียณอาจจะอีกยาว ซึ่งแหล่งที่มาของมนุษย์เงินเดือนอย่างดิฉันคงหนีไม่พ้นเงินเดือนเป็นหลัก โดยเงินที่ได้มาแต่ละเดือนจากอาชีพเป็นผู้จัดการกองทุนให้ท่านผู้อ่านนั้น ดิฉันมีหลักคิดส่วนตัวที่ไม่อิงหลักวิชาการง่ายๆเลยค่ะ คือ “เก็บก่อนใช้”

เก็บก่อนใช้ ต้องทำยังไงหรือคะ

ง่ายๆ เลย ดิฉันแบ่งเงินเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ ก. เงินออม ข. เงินจ่ายภาระหนี้เช่น บัตรเครดิต ค่าใช้จ่ายในบ้าน ฯลฯ  ค. เงินสำรองกรณีฉุกเฉิน  และ ง. ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กิน เที่ยว ช้อปปิ้ง (อันสุดท้ายนี่สำคัญมากค่ะ เพราะการช้อปปิ้งอย่างพอดีๆ ดิฉันผ่อนคลายจากภาระงานจัดการกองทุนที่ท่านลงทุนไปได้มาก แต่ถ้าช้อปจนเกินไป ดิฉันก็จะเครียดยิ่งกว่าเดิม เพราะแทนที่จะจัดการกองทุนให้ท่านได้เต็มที่ ดิฉันก็คงจะต้องจัดการหนี้ที่ตนเองก่อไว้อย่างไร้ประโยชน์ค่ะ)

เรื่องการเก็บนี่ เราต้องตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าในปีๆ หนึ่งจะเก็บเงินเท่าไหร่ พอเงินเดือนออกปุ๊บ ก็เก็บก่อนเลยค่ะ จะฝากธนาคารหรือซื้อกองทุนก็ว่ากันไป ส่วนตัวดิฉันลงทุนในกองทุน เพราะง่ายและสะดวกสุดค่ะ แล้วก็ไปสำรวจตัวเองว่าสบายใจอยากลงทุนกับที่ไหน นโยบายเป็นอย่างไร เข้ากันได้กับตัวเองหรือไม่ ความเสี่ยงเป็นอย่างไร อันนี้เข้าไปดูรายละเอียดนโยบายในเวบไซด์ของแต่ละที่ได้เลยค่ะ

แต่ดูไปดูมา ก็ไม่รู้ว่าทำไมดิฉันจึงเทเงินลงไปในกองทุนที่เราบริหารอยู่ก็ไม่ทราบเหมือนกัน

หลังจากหักเงินออมแล้ว เราก็ต้องจ่ายภาระหนี้ทั้งหมดที่พึงจ่าย และเก็บส่วนหนึ่งไว้เป็นสำรองยามฉุกเฉิน (ซึ่งบางท่านอาจนำเงินส่วนนี้ไปวางไว้ในกองทุนที่มีสภาพคล่องสูงๆ อย่างพวก Money Market Fund หรือกองทุนที่ใกล้เคียงก็ไม่ว่ากันค่ะ (ยิ่งเป็น บัวหลวงธนทวี หรือ บัวหลวงตราสารหนี้ภาครัฐ ก็ยิ่งดีนะคะ อะแฮ่ม !!) จากนั้นแล้ว ส่วนที่เหลือเราก็ใช้จ่ายได้เต็มที่เลยค่ะ และเงินออมที่เราเก็บไว้ทุกเดือนนี่แหละที่จะเป็นแหล่งรายได้ของเราในยามเกษียณ

จากการสังเกตคุณพ่อคุณแม่ของดิฉันซึ่งอยู่ในวัยเกษียณแล้วทั้งคู่ พบว่าการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพวกท่านดูลดน้อยกว่าอดีต ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะกิจกรรมทางสังคมลดลง พออายุมากขึ้นการกินก็ไม่ได้มากมาย อีกทั้งยังเคร่งครัดในการกินอาหารที่ดีกับสุขภาพด้วย จึงทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่ได้เป็นจำนวนเงินที่น่ากังวล

ทั้งนี้ ผู้ที่เตรียมพร้อมการเกษียณหรือเข้าใกล้วัยเกษียณจะต้องคิดไว้เลยว่า เงินจำนวนเท่าไหร่ต่อเดือนที่คุณและคู่สมรส (ถ้ามี) อยากจะมีไว้ใช้จ่ายในการดำรงชีวิตได้อย่างไม่อัตคัตขัดสน จนกระทั่งจากลาโลกนี้ไป ขอย้ำเลยว่า ให้คำนวณจำนวนเงินสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานตามแต่ฐานะการเงินที่มีนะคะ ไม่ใช่ดำรงชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ แต่ขั้นต่ำก็คือให้วางแผนตามปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค และก็อาจมีเพิ่มเติมเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการ พวกการเดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อทำให้ชีวิตมีความสุขเอาไว้ด้วย ซึ่งเรื่องปัจจัยสี่ที่ว่านั้นมีข้อแนะนำดังนี้ค่ะ

ที่อยู่อาศัย บ้านที่เราอยู่ ณ ปัจจุบัน มันใหญ่ไปไหมสำหรับสมาชิกทั้งหมดที่มี สังคมไทยในปัจจุบันอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ อีกทั้งส่วนใหญ่ผู้สูงอายุก็จะผูกพันกับบ้านที่อยู่มานาน แนวคิดแบบคนต่างประเทศที่ให้ย้ายที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับกายภาพและกำลังเงินอาจจะนำมาใช้ไม่ค่อยได้ แต่สังคมไทยในอนาคตจะแยกครอบครัวออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยวกันมากขึ้น ผู้สูงอายุอาจต้องอยู่กันตามลำพัง การมีบ้านที่ใหญ่โตเกินไป ค่าใช้จ่ายในการดูแล ซ่อมแซม ก็มากตามไปด้วย

อาหาร เป็นอีกหัวข้อที่ต้องใส่ใจสำหรับผู้สูงอายุ โดยอาหารพวก Junk Food ทั้งมีราคาแพง แถมไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ก็ต้องหลีกเลี่ยง เราอาจจะลองทำอาหารทานเองดีกว่าเพราะสะอาด ปลอดภัย แถมราคาไม่แพงด้วย เอาไว้เมื่อมีโอกาสพิเศษค่อยออกไปทานอาหารนอกบ้านเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ น่าจะดีกว่า

            ยารักษาโรค อย่างที่ได้พูดไว้แล้วในหัวข้อเตรียมกายว่าการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเราป้องกันด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ และเริ่มวางแผนการซื้อประกันสุขภาพไว้แต่เนิ่นๆ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็อาจจะไม่ใช่ภาระหนักจนเกินไป

มีคำแนะนำบางอย่างที่น่าสนใจของบทความในต่างประเทศก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่นจากที่เคยซื้อของกักตุนในบ้านมากๆ เพราะเมื่ออดีตเราไม่ค่อยมีเวลา ก็ปรับมาซื้อแต่พอดีพอใช้ หรือจากที่เคยซื้อหนังสืออ่านก็ลองเปลี่ยนมาใช้ห้องสมุดประชาชนที่จะได้อ่านหนังสือหลากหลายแถมอาจได้เพื่อนใหม่ที่นั่นอีกด้วย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเล็กๆน้อยเหล่านี้ก็สามารถลดรายจ่ายได้มากโขอยู่ทีเดียว

  1. เตรียมเพื่อน ด้วยหน้าที่การงานที่เร่งรีบของเราในทุกวันนี้ ทำให้เราละเลย “เพื่อน” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญไป  ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเพื่อนฝูงที่มีทัศนคติและการดำเนินชีวิตคล้ายคลึงกับเรา การพบปะพูดคุยหรือทำกิจกรรมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการไปออกกำลังกาย ไปวัด ทำบุญ ท่องเที่ยว ทำกิจกรรมอาสาสมัครร่วมกัน ฯลฯ ล้วนทำให้เรามีจิตใจเบิกบาน สนุกสนาน สุขภาพกายและสุขภาพใจ ก็พลอยดีไปด้วย
  2. เตรียมผู้ช่วย ผู้ช่วยในที่นี้หมายถึงผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนทางการเงินเพื่อให้เราเกษียณได้อย่างมั่นใจและสุขใจ ในต่างประเทศมีบริการทางด้านนี้มาก แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในประเทศไทยอย่างไรก็ตามถ้าสามารถบริหารและวางแผนทางเงินได้เอง ก็ไม่ต้องไปใช้บริการ ไม่ว่ากันค่ะ

เพียงแค่นี้เราก็สามารถยิ้มรับกับชีวิตบทใหม่ในวัยเกษียณให้มีความสุขได้แล้ว ด้วยการเตรียมพร้อมที่ดี