ราคาหุ้นไม่ได้ตอบรับต่อประเด็นเชิงบวก แม้มีปัจจัยอื่นในประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีในช่วงไตรมาสที่ 1 ขยายตัว +4.8% YoY สูงที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส เนื่องจากตัวเลขที่ประกาศออกมานั้นถูกผลักดันจากบางภาคส่วนเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ได้สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจทั้งประเทศ ส่วนหนึ่งเห็นได้จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯในไตรมาสที่ 1 โดยภาพรวมแล้ว
ตลาดหุ้นยังไม่มีแรงขับเคลื่อนที่มีน้ำหนักมากพอ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ยังคงผันผวน เราคิดว่าตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง การเลือกลงทุนหุ้นเป็นรายตัวให้กับกองทุนจึงมีความสำคัญมากในระยะนี้
ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุน
(+) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกฎหมายที่มาของ ส.ส.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปี2562
(+) ธปท. แถลงเศรษฐกิจไทย ในเดือน เม.ย. 2561 ขยายตัวดีโดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ต่างประเทศและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก การบริโภคภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์
(+) ช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 คาดว่าการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจไทย จะมีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Ready-To-Eat )และบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย
(+/-) นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในตลาดหุ้นเอเชียติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนพ.ค. โดยขายราว 4 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ต่างชาติเทขายหุ้นเอเชียในปีนี้รวมแล้วกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
(+/-) ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติ 1.6 พันล้านดอลลาร์ในเดือนที่แล้ว (ขาย 5.2 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้) ซึ่งถือเป็นตลาดที่ต่างชาติเทขายหนักที่สุดในเอเชีย ตามมาด้วยอินเดีย และไต้หวัน แต่ด้วยแรงกดดันที่ต่างชาติจะเทขายหุ้นไทยต่อไปจะมีไม่มากนัก เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทยในสัดส่วนเพียง 30.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
(+/-) การประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เกิดความมั่นคงภายหลังจากที่การประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือปิดฉากลงด้วยดี พร้อมด้วยการลงนามในเอกสารสำคัญร่วมกัน ช่วยส่งผลบวกต่อบรรยากาศการลงทุนมากขึ้น
(-) ความตึงเครียดของการประชุม G7 ที่ยังไม่สามารถตกลงเรื่องการค้าระหว่างกันได้
(-) ติดตามต่างชาติขายหุ้นเอเชีย ได้แก่ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณยุติการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในสหรัฐ
(-) ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงเป็นปัจจัยลบต่อตลาด
กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน :
การลงทุนในหุ้นจะเน้นบริษัทคุณภาพที่มีรูปแบบธุรกิจที่เข้มแข็ง มีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่อง มีฐานะการเงิน แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูง และมีแนวโน้มการจ่ายปันผลดีอย่างสม่ำเสมอ
โดยผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นในช่วงที่ตลาดผันผวนและราคาหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดีลดต่ำลงกว่าราคาที่ควรจะเป็น รวมถึงได้ลดสถานะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ราคาหุ้นขึ้นมามากกว่าราคาที่ควรจะเป็น และ/หรือแนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือบริษัทอาจแย่ลงในอนาคต เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธนาคาร พลังงาน
โดยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอุตสาหกรรมพาณิชย์ การแพทย์ อาหาร/เครื่องดื่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า