ทำความรู้จักนักท่องเที่ยวยุคใหม่หัวใจไฮเทค

ทำความรู้จักนักท่องเที่ยวยุคใหม่หัวใจไฮเทค

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของคนยุคนี้เปลี่ยนแปลงจากอดีตมาก ถ้าคิดจะเปรียบเทียบราคา ไม่ต้องเดินไปถึงหน้าร้านหลายๆ แห่ง หรือยกหูโทรศัพท์หลายครั้ง ก็ค้นหา เปรียบเทียบได้ง่ายแค่ปลายนิ้วจิ้มสมาร์ทโฟน ซึ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวเองต่างก็ทราบดีในแนวโน้มเหล่านี้ แต่เพื่อทำความรู้จักนักท่องเที่ยวยุคใหม่หัวใจไฮเทคให้ดียิ่งขึ้น วันนี้เราจะขอนำรายละเอียดที่น่าสนใจเหล่านี้มาฝากกัน

สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ได้ออกรายงานฉบับล่าสุดที่สะท้อนให้เห็นภาพโลกดิจิทัลที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน โดยจากรายงานชี้ชัดว่า นักท่องเที่ยวจีนเป็นผู้นำขับเคลื่อนกระแสการบริโภคและการท่องเที่ยว

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีคนจีนมากกว่า 760 ล้านคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในจีน มากกว่าจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม ในช่วงเวลานั้นรวมกันเสียอีก นอกจากนี้มากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรที่เข้าถึงโลกดิจิทัลของจีน หรือ 275 ล้านคน ก็เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ท่องเที่ยวระหว่างช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตามแม้จีนเป็นผู้นำการเข้าถึงบริการด้านการท่องเที่ยวทางออนไลน์ แต่ตลาดอื่นก็ยังมีช่องว่างให้เข้าไปขยายโอกาสได้

เมื่อไปมองฝั่งผู้ให้บริการเว็บไซต์ท่องเที่ยวออนไลน์ สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การรู้จักผู้บริโภคว่าต้องการอะไร โดยสิ่งที่ผู้บริโภคทั่วโลกต้องการ คือ การวางแผน ด้วยเหตุนี้เว็บไซต์ต่างๆ ต้องจัดหาข้อมูลการท่องเที่ยวมาป้อนให้กับผู้บริโภคในโลกดิจิทัล

ที่ผ่านมาจากตัวเลขเดือน ก.พ. เว็บไซต์ข้อมูลท่องเที่ยวของสหรัฐเป็นเว็บไซต์ท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด มียอดผู้เข้าเยี่ยม 184 ล้านคน ขณะที่เว็บไซต์ท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกไม่นับรวมจีน มีขนาดใหญ่อันดับ 2 มีผู้ชม 60 ล้านคน เว็บไซต์ท่องเที่ยวของจีน มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ด้วยจำนวนผู้เข้าชม 64 ล้านคน ซึ่งบางเว็บไซต์เปิดให้ซื้อบริการด้านท่องเที่ยวได้เลย เช่น เป็นตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยวออนไลน์ เว็บไซต์การท่องเที่ยวทางเรือสำราญ และจากเว็บไซต์เหล่านี้ พบว่า ผู้บริโภคเอเชียซื้อบริการท่องเที่ยวมากกว่าภูมิภาคอื่นในโลก

เพื่อให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นกับผู้ประกอบการรวมถึงผู้ที่กำลังมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการให้บริการด้านท่องเที่ยวออนไลน์ PATA นำเสนอข้อมูลที่ลึกมากขึ้นไปอีกเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้าถึงเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยว โดยพบว่า ส่วนใหญ่จะเข้าถึงด้วยอุปกรณ์ในมืออย่างสมาร์ทโฟนเพียงอุปกรณ์เดียว มีเพียงอินเดียและอินโดนีเซีย ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้านเข้าถึงเว็บไซต์มากกว่ามือถือ

ขณะที่ ฤดูกาลที่ผู้บริโภคแต่ละตลาดมีความต้องการซื้อบริการด้านท่องเที่ยวสูงนั้น พบว่า ประเทศในเอเชียที่อยู่ทางตอนใต้จะนิยมเที่ยวช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. ส่วนประเทศเอเชียที่อยู่ทางตอนเหนือจะนิยมเที่ยวมากช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. โดยจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นประเทศที่เที่ยวกันสูงมากช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ขณะที่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย เดินทางตลอดทั้งปี

สำหรับ ความถี่ในการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ท่องเที่ยวนั้น จีนยังเป็นผู้นำกลุ่มผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกอยู่ดี เข้าเยี่ยมชมถึง 8 ครั้งต่อเดือน แต่ละครั้งใช้เวลาเยี่ยมชม 3.4 นาที รวมแล้วใช้เวลาทั้งหมดกับเว็บไซต์ท่องเที่ยว 26.9 นาทีต่อคนต่อเดือน รองลงมาคือออสเตรเลีย และญี่ปุ่นที่เยี่ยมชมจำนวนครั้งต่อเดือนน้อยกว่า อยู่ที่ 3.1 ครั้งต่อเดือนเท่ากัน แต่ใช้เวลาดูข้อมูลในเว็บไซต์นานกว่า ออสเตรเลีย 4.1 นาที ญี่ปุ่น 3.5 นาที

ทางด้านเวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่คนใช้เวลาท่องเว็บไซต์ท่องเที่ยวอันดับถัดๆ มา แต่ละครั้งยังใช้เวลากับการท่องเว็บไซต์ออนไลน์ไม่มากนัก

เมื่อไปดูกลุ่มบริการข้อมูลท่องเที่ยวที่คนแต่ละชาติเข้าไปสนใจกันมาก พบว่า ถ้าเป็นคนออสเตรเลียจะใช้เวลากับเว็บไซต์ตั๋วเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ สูงสุด จีนใช้เวลากับเว็บไซต์สินค้าอุปโภคบริโภค อินเดียใช้เวลากับเว็บไซต์ข่าวและพยากรณ์อากาศ อินโดนีเซีย ใช้เวลากับเว็บไซต์ด้านอาหาร ญี่ปุ่น ใช้เวลากับเว็บไซต์ค้นหางาน มาเลเซียใช้เวลากับเว็บไซต์ข่าวและพยากรณ์อากาศ ส่วนเวียดนามก็ใช้เวลากับเว็บไซต์ตั๋วเข้าร่วมกิจกรรม

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเครื่องมือออนไลน์ในธุรกิจบริการท่องเที่ยว และฉายภาพของโอกาสที่ผู้มีแนวทางธุรกิจหรือลงทุนจะเข้าไปจับจังหวะเพื่อสร้างโอกาสเติบโตไปพร้อมกับกระแสการท่องเที่ยวยุคดิจิทัลนี้