นโยบาย Smart Cities ของอินเดียใน 3 ข้อ

ประเทศอินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มี “ศักยภาพ” ในการเติบโตทางธุรกิจเป็นอันดับต้นๆของโลก ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะด้วยจำนวนประชากรที่มีถึงกว่า 1,200 ล้านคน ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน กรกฎาคม 2560) นอกจากนี้โครงสร้างประชากรของอินเดียยังมีความเหมาะสมต่อการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ ด้วยสัดส่วนประชากรวัยแรงงาน (15-64 ปี) ประมาณ 66% โดยมีอายุเฉลี่ยประชากรเพียง 27.6 ปี ซึ่งทำให้แดนภารตะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ทั้งนี้ อินเดียมี GDP ประมาณ 2.3ล้านล้านดอลล่าร์ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 7 ของโลกและมีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในรอบทศวรรษล่าสุดเฉลี่ยที่ปีละ 7.5% โดยล่าสุดอยู่ที่ 7.1% ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก แม้รายได้เฉลี่ยต่อประชากร (GDP per capita) ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ประมาณ1,861.5 ดอลลาร์ ในปี 2559 แต่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่าทศวรรษแล้ว

การเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมดี เมื่อปี 2557 มาพร้อมนโยบายแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจผ่านการปรับปรุงระบบภาษีและกฎระเบียบการลงทุนเพื่อปูทางสู่การพัฒนาในระยะยาว โดยมีนโยบายสำคัญคือพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) รอบหัวเมืองใหญ่จำนวน 100 เมือง สรุปเป็น 3 ข้อหลักๆ ดังนี้

นโยบายพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เป็นนโยบายสำคัญของนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมดี เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและกฎระเบียบการลงทุนเพื่อปูทางสู่การพัฒนาในระยะยาว

มีกรอบเวลาแล้วเสร็จภายในปี 2565 ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า7.5 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 268,230 ล้านบาท) มีแนวคิดหลัก คือเชื่อมโยงทุกส่วนของเมืองถึงกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (“อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” หรือ “Internet of Things -IoT) เพื่อให้ระบบสาธารณูปโภคทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบไฟจราจรที่เชื่อมโยงกัน โดยการใช้ระบบเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของรถยนต์

ขั้นตอนการพัฒนา Smart Cities ของอินเดีย รัฐฯ ต่างๆ จะต้องเสนอเมืองของตนเองเข้ามาให้รัฐบาลกลางพิจารณา จากนั้นรัฐบาลจะกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกเมืองที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

การคัดเลือก Smart Cities จะพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา รูปแบบอาคาร สภาพแวดล้อม เป็นต้น  ซึ่งเมืองต่างๆที่ถูกคัดเลือกมานั้นจะกระจายอยู่ในทุกภูมิภาค เพื่อช่วยให้ระเบียงอุตสาหกรรมที่สำคัญเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญของประเทศได้รวดเร็วขึ้น ผ่านโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลและเอกชน (Public Private Partnership Projects – PPP) รวมทั้งความร่วมมือจากนานาชาติ ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน และสหรัฐฯ

เป้าหมายทางเศรษฐกิจ  “Make in India” จะทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก (Global Manufacturing Hub)

“Make in India” จะผลักดันให้ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียขึ้นสู่อันดับที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และจีนในอีก 3 ปี(2563) และอันดับ 2 รองจากจีน ภายใน 33 ปี(2593) โดย Smart Cities ของอินเดียนี้ จะพัฒนาทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอินเดีย และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment – FDI) ซึ่งสร้างโอกาสต่อการลงทุนในระยะยาวที่ไม่น่าพลาดด้วยประการทั้งปวง

ฐาปณัฐ สุภาโชค

Fund Management