CNBC รายงานอ้างข้อมูลของฝ่ายวิจัย KPMG ที่ระบุว่า ปัจจุบันเอเชียเป็นสนามประลองสำคัญของธุรกิจฟินเทค เนื่องจากจำนวนประชากรจำนวนมาก ทั้งยังเป็นตลาดเกิดใหม่ที่การแข่งขันยังมีไม่มาก
งานวิจัยระบุว่า ประชากรเอเชียจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคารปกติ แต่ด้วยมีการใช้สมาร์ทโฟนในภูมิภาคนี้มากกว่า 1 พันล้านคน จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้ฟินเทคในเอเชียเติบโต
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2015 มีเงินลงทุนในธุรกิจฟินเทคในเอเชียมูลค่าถึง 4,500 ล้านดอลลาร์ มากกว่ายุโรปถึง 3 เท่า
ล่าสุด ประธานธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) “ราวี เมนอน” ออกมาส่งสัญญาณเตือน “ฟองสบู่ฟินเทค” “ผมเริ่มเห็นสัญญาณของฟองสบู่ในฟินเทค เพราะบางโมเดลธุรกิจดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้เลยในโลกความเป็นจริง และเกิดการลงทุนที่เกินตัวไปมาก” ลักษณะดังกล่าวคล้ายคลึงกับยุค “ฟองสบู่ดอตคอม” ในช่วงการเปลี่ยนผ่านศตวรรษ
ประธานธนาคารกลางสิงคโปร์ ยังแสดงความกังวลต่อฟินเทคประเภท “peer-to-peer lending” ซึ่งเป็นการให้กู้ยืมเงินจับคู่ตรงระหว่างผู้ที่ต้องการกู้กับผู้ปล่อยกู้ โดยเจ้าของแพลตฟอร์มจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากทั้งสองฝ่ายเป็นรายได้หลัก
ในประเทศจีนถือว่ามีการเติบโตสูงสุด ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงมากที่สุดเช่นกัน เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มประเภทนี้ปิดตัวไปแล้วถึง 4,000 แห่ง โดยมีคดีรุนแรงที่สุดคือกรณีบริษัท Ezubo ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้บริการ P2P Lending ที่มีการระดมทุนผิดกฎหมายกว่า 50,000 ล้านหยวน หรือคดีบริษัท Wanzhong Fortune Group ระดมทุนผิดกฎหมายในลักษณะแชร์ลูกโซ่ มูลค่ากว่า 800 ล้านหยวน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้ “Big Data” ในการทำเครดิตรายบุคคล ว่าผู้ใช้บริการแต่ละรายมีความเสี่ยงระดับไหน ควรจะได้เครดิตเงินกู้เท่าไหร่ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านมือถือ การใช้โซเชียลมีเดีย หรือการใช้อินเทอร์เน็ต เป็นการวิเคราะห์ในรูปแบบที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้นการประมวลผลเรื่องเหล่านี้อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดมหาศาลได้ ถ้าใช้บิ๊กดาต้าในการวิเคราะห์แบบผิดวิธี แต่ขณะเดียวกันบิ๊กดาต้ามีประโยชน์มาก เป็นการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค