“รับฟรี” คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำนี้ หรือเห็นข้อความนี้ย่อมมีความรู้สึกสนใจ และท่าทางตื่นเต้น ดวงตาเป็นประกาย ว่ามันคืออะไร ต้องทำอย่างไร ถึงจะได้สิ่งๆ นั้นมาครอบครองถึงแม้ว่ามันต้องมีเงื่อนไขประกอบในการรับของฟรีเหล่านั้น
ในปัจจุบันการนำเสนอผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ หากมีของแถมควบคู่มาด้วยถึงจะสามารถทำให้สินค้าตัวนั้นๆ เป็นที่สนใจเป็นพิเศษ ธุรกิจกองทุนรวมก็เช่นกันจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการจัดงานออกบูธไม่ว่าจะช่วงไหนๆ จะสังเกตได้ว่ามีหลายบริษัทจัดการกองทุนรวมที่มีการจัดโปรโมชั่นของแถมขึ้นมานำเสนอ ยิ่งถ้า บลจ.ไหนมีของแถมแปลกใหม่ได้ใจ ก็จะได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีบางคนที่ตัดสินใจลงทุนให้ความสำคัญกับของแถมมากโดยมิได้คำนึงถึงว่ากองทุนที่ลงทุนไปนั้นมีนโยบายการลงทุนอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ภายหลังเมื่อทราบเงื่อนไขต่างๆ แล้วอาจทำให้ไม่พอใจกับกองทุนที่ถืออยู่ เช่นกองทุนนั้นอาจแฝงไปด้วยค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือเงื่อนไขระยะเวลาในการถือครองกองทุน ดังนั้นควรมีการศึกษาข้อมูลกองทุนก่อนการคิดตัดสินใจลงทุน“ศึกษาข้อมูลสักนิด ก่อนคิดตัดสินใจซื้อ”
องค์ประกอบหลักในการตัดสินใจเลือกกองทุนที่จะลงทุน หรือ บลจ.ที่บริหารนั้น โดยหลักแล้วองค์ประกอบที่ควรคำนึงถึงมีดังนี้
- เลือกกองทุนที่ตรงกับความต้องการ นโยบาย และเงื่อนไขต่างๆ ในการลงทุน อาทิ เช่น เป็นผู้ที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนสูงในระยะยาว ควรเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) หรือ ผู้ที่ต้องการความมั่นคงในการลงทุนสูง ควรเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ ซึ่งจะช่วยลดการแบกรับภาระในเรื่องของความเสี่ยงจากการลงทุน
- เปรียบเทียบความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานในอดีต ซึ่งควรพิจารณาในระยะยาว เช่น 3 ปี 5 ปี
- ปรัชญา หลักการลงทุนที่ยึดถือ และแนวความคิดในการดำเนินธุรกิจของ บลจ. ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
- การให้บริการ และความสะดวกสบาย
“ลงทุนเท่าไหร่ ให้เหมาะสมกับตัวเอง”
หลังจากศึกษาองค์ประกอบที่ช่วยในการตัดสินใจลงทุนแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปที่ต้องดู คือ เป้าหมายในการลงทุนแต่ละครั้ง เป็นสิ่งที่เราต้องโฟกัสให้ตรงจุด โดยกำหนดเป้าหมายทางการเงินให้เฉพาะเจาะจงขึ้น เช่น เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว เพื่อการศึกษาบุตร สำรองงบรักษาพยาบาลหลังเกษียณ หรือเก็บไว้เพื่อเป็นทุนท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ละคนอาจมีหลายเป้าหมายก็ได้ เช่น
นาย ก. ต้องการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยได้คำนวณสิทธิการซื้อได้ 50,000 บาท (เงินได้พึงประเมินทั้งปี x 15% สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันบำนาญต้องไม่เกิน 500,000 บาท) แต่ นาย ก. ได้ซื้อกองทุน RMF ไป กับ บลจ. แห่งหนึ่งเป็นเงิน 120,000 บาท เพื่อรับของแถม จากการลงทุนนี้ นาย ก. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาทเท่านั้น โดยต้องถือครองเงินลงทุนทั้งหมดนี้ตามเงื่อนไขของ RMF เมื่อครบเงื่อนไขการลงทุน นาย ก. สามารถขายคืนหน่วยลงทุนจากเงินลงทุน 50,000 บาท พร้อมกำไรส่วนเกินทุนจากเงินก้อนนี้ได้อย่างถูกเงื่อนไข ไม่ต้องเสียภาษี แต่การขายคืนหน่วยลงทุนจากเงินลงทุน 70,000 บาท พร้อมกำไรส่วนเกินทุนจากเงินก้อนนี้นั้น ต้องนำมารวมเป็นเงินได้พึงประเมิน ม.40(8) เพื่อเสียภาษี ในปีทีทำการขายคืนหน่วยลงทุนส่วนนี้ ซึ่งหากวันนั้น นาย ก ตัดสินใจไม่เอาของแถม และเอาเงิน 70,000 บาทนี้ ไปลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไป เมื่อเกิดกำไรส่วนเกินทุน นาย ก ก็จะไม่ต้องนำเงินส่วนนี้มารวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี
“อย่าหลงใหลได้ปลื้ม ไปกับของล่อใจเพียงเล็กน้อย”
พฤติกรรรมของคนไทยมักหลงใหลได้ปลื้มไปกับของแจก ของแถม โดยไม่ค่อยจะนึกถึงสินค้าที่จะซื้อจริงๆ เท่าไหร่นัก สำหรับการลงทุนแล้วไม่ควรนำของแถมมีเปรียบเทียบ หรือนำมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจลงทุน เพราะฉะนั้น “ของพรีเมียมที่สวยหรูดูดี” ที่สุดสำหรับกองทุนรวม คือ การตัดสินใจที่ถูกต้องในการเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตนเอง และเป้าหมายในการลงทุนที่แท้จริงตามองค์ประกอบหลักในการตัดสินใจดังนั้นควรตัดสินใจซื้อกองทุน โดย “อย่าหลงเชื่อเพียงโฆษณาชวนเชื่อ หรือหลงใหลในของสมมนาคุณเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่ไตร่ตรอง”