ดัชนี MSCI AC ASEAN Index YTD (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ต.ค.) ปรับลดลงแล้วประมาณ -8% โดยมาจากการปรับลดลงของดัชนีหุ้น 3 ประเทศหลักอันได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีสัดส่วนในดัชนีประมาณ 30% 17% และ 9% ตามลำดับ
หุ้นอาเซียนที่ลดลงนั้นได้รับผลกระทบในประเด็นความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของบางประเทศนั้นๆ เอง ได้แก่ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่เสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศค่อนข้างเปราะบางจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ที่ประมาณ -3.0% สำหรับอินโดนีเซีย และประมาณ -1.4% สำหรับฟิลิปปินส์ ทั้ง 2 ประเทศพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศในระดับสูง ผนวกกับการอ่อนค่าอย่างมากของค่าเงิน IDR และ PHP (ตาราง 1) เป็นตัวเร่งให้กระแสเงินทุนยังคงไหลออกจากประเทศ แม้ว่าธนาคารกลางของทั้ง 2 ประเทศจะพยายามบรรเทาสถานการณ์ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วก็ตาม
ตาราง 1: แสดงการอ่อนค่าของค่าเงินอาเซียนและประเทศอื่นในทวีปเอเชีย
ตาราง 2: แสดงผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี (YTD) ของดัชนีตลาดหุ้นอาเซียน
กลยุทธ์การบริหารกองทุน
ช่วงที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนปรับพอร์ตลงทุนด้วยการหลีกเลี่ยงการลงทุนเพิ่มเติมและลดสัดส่วนหุ้นในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเพิ่มสัดส่วนหุ้นไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็น Domestic Play หรืออิงการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจำกัด อาทิ กลุ่มสื่อสาร ธนาคาร และค้าปลีก เป็นต้น สัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเทศ ณ วันที่ 31 ส.ค. 2018 เป็นไปตามแผนภาพด้านล่าง
กราฟแสดงสัดส่วนรายประเทศของพอร์ต B-ASEAN
ตัวอย่างหุ้นในแต่ละประเทศที่ B-ASEAN ไปลงทุน
ไทย: CP All Public Company Limited (CPALL) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ด้วยจุดเด่นในด้านสาขาที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศได้มากที่สุด รวมถึงโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นในธุรกิจ
เวียดนาม: Airport Corporation of Vietnam JSC (ACV) ผู้ดูแลจัดการสนามบิน 22 แห่งในเวียดนาม ซึ่งได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
มาเลเซีย: CIMB Group Holding (CIMB) ผู้ให้บริการทางด้านการเงินแบบครบวงจรทั้งในมาเลเซียและภูมิภาค โดยมีสัญญาณทั้งเรื่องการขยายตัวของสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ผนวกกับการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทจีนทั้ง China Galaxy และ Ant Financial จะช่วยในเรื่องการขยายตลาดในจีนและการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมต่างๆ
สิงคโปร์: Oversea-Chinese Banking Corp. (OCBC) ผู้ให้บริการหลากหลายด้านเกี่ยวกับการเงินและการธนาคารทั้งในสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ โดยมีแผนการทำ Digital Transformation อย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าจากช่องทาง Digital ทั้งลูกค้ารายบุคคลและบริษัท อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและการประหยัดต้นทุนในระยะยาว
ฟิลิปปินส์: Robinsons Retail Holdings (RRHI) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการค้าปลีกในหลากหลายรูปแบบ เช่น ห้างสรรพสินค้า Outlet ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ แม้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบันจะถูกบั่นทอนลงไปบ้างจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง แต่เชื่อว่าในระยะยาวธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของชนชั้นกลางและชุมชนเมือง
อินโดนีเซีย: PT Telekomunikasi Indonesia Tbk (TLKM) ผู้นำในการบริการทางด้านการสื่อสารของอินโดนีเซีย โดยนำเสนอบริการที่หลากหลายทั้งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ผลิต content และ application เป็นต้น โดย TLKM ซึ่งอัตราการใช้ Smartphone ที่เพิ่มสูงขึ้นในอินโดนีเซียผนวกกับความแข็งแกร่งในด้านเน็ตเวิร์กและความสามารถในการแข่งขัน จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว