กองทุนรวมของกองทุนบัวหลวงที่ลงทุนในตราสารทุน

กองทุนรวมของกองทุนบัวหลวงที่ลงทุนในตราสารทุน

กองทุนเปิดบัวแก้ว (BKA)

กองทุนเปิดบัวแก้ว 2 (ฺBKA2) 

กองทุนเปิดบัวหลวงธนคม (BTK)

กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP)

กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐาน (B-INFRA)

กองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND)

กองทุนรวมบัวหลวงหุ้นธรรมาภิบาลไทย (B-THAICG)

การลงทุนกองทุนหุ้นไทย บริหารตามแนวคิด 2 ด้าน คือ

  1. Top-down Approach เป็นการหา Investment Theme โดยเน้นมุมมองในระยะยาว ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจและรายอุตสาหกรรมว่ามีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตอย่างไร และเลือกกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มขาขึ้น แล้วจึงเฟ้นหาหุ้นที่มีโอกาสจาก Theme ดังกล่าว
  2. Bottom-up Approach เพื่อค้นหาบริษัทที่จะเข้าลงทุนที่มีมูลค่าพื้นฐานต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หรือหุ้นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนรวมที่สูงสุด โดยให้ความ
    สำคัญในการพิจารณาโมเดลธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ต่อเนื่อง มีความแข็งแรงของงบดุล ความรู้ความสามารถของผู้บริหาร และประสบการณ์ด้านการบริหาร เป็นต้น โดยพิจารณาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

กองทุนบัวหลวงสร้างพอร์ตลงทุนให้แต่ละกองทุนฯ ด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์และคัดสรร (Thinking and selection process) พร้อมทั้งมีทีมเวิร์คที่ดีช่วยกันหาไอเดียใหม่และแบ่งปันแนวคิดร่วมกัน รวมถึงทบทวนข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้น เรายังมี Element of LUCK (Labour Under Correct Knowledge) หรือทำงานภายใต้ความรู้ที่ถูกต้องอีกด้วย

Market Overview : ต.ค. 2018

ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่เดือนแรกของไตรมาสสุดท้ายแห่งปี เผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก ท่ามกลางปัจจัยลบภายนอกรุมเร้า ดัชนีปรับตัวลดลงประมาณ 7% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ โดยในต้นเดือน ต.ค. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลก ในปี 2018 และ 2019 เหลือ 3.7% ทั้งสองปีจากประมาณการในเดือน ก.ค. ที่ระดับ 3.9% โดยให้น้ำหนักความเสี่ยงของสงครามการค้า ความเปราะบางทางเศรษฐกิจรายประเทศ และภาวะการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี (10YR US Bond Yield) ที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3.24% ทำสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ปี 2011 จากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หลังมีสัญญาณเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทำให้เกิดการลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมถึงในเดือนนี้ยังเป็นช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสสาม โดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ บางรายได้เปิดเผยผลประกอบการที่สร้างความผิดหวังให้กับตลาด กอปรกับมูลค่าที่ตึงตัวจากความคาดหวังที่สูง ทำให้ระยะเวลาการปรับฐานนั้นในกินระยะเวลานานขึ้น

สำหรับตลาดหุ้นไทย นอกจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกข้างต้นแล้ว ปัจจัยภายในประเทศเองนั้น ก็มีอยู่หลายประเด็น ตัวเลขภาคการส่งออกติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน รายได้ภาคการเกษตรที่หดตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ทำให้เกิดแรงขายทำกำไรหลังจากที่ขึ้นไปในช่วงก่อนหน้า นักลงทุนลดความเสี่ยงลง (Risk off) โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิตลาดหุ้นในเดือน ต.ค. กว่า 6 หมื่นล้านบาทเป็นรายเดือนมากที่สุดในปี รวมตั้งแต่ต้นปีขายสุทธิสะสม 2.7 แสนล้านบาท โดยตลาดหุ้นไทยในเดือน ต.ค. ปรับลดลง กระจายตัวในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันและการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ตามคาดได้รับแรงหนุนจากสภาพคล่องในประเทศและเม็ดเงิน LTF ที่จะทยอยเข้ามาในช่วงไตรมาสสี่ของทุกปี

มุมมองตลาดหุ้นไทย

โดยภาพรวม ตลาดหุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆ แต่มีโอกาสที่จะผ่อนคลายลงได้บ้าง ด้วยความที่ตลาดได้รับรู้ปัจจัยลบในเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกไปพอสมควร ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีและยังมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่จากทั้งภาครัฐและเอกชนรออยู่ข้างหน้า กอปรกับเม็ดเงินจาก LTF ในช่วงปลายปี จะช่วยหนุนตลาดไว้ได้ ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อจากนี้ ความคืบหน้าแผนการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและต่างชาติ ทิศทางการเลือกตั้ง รวมถึงพัฒนาการต่อความกังวลเศรษฐกิจรายประเทศและสงครามการค้า เรายังคงกลยุทธ์ในการพิถีพิถันเลือกลงทุนเป็นพิเศษ ในหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มของผลประกอบการที่แข็งแกร่งและระดับราคาที่เหมาะสม เป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับการลงทุนในช่วงนี้

ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุน

(+) ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ บรรยากาศเหมาะแก่การลงทุน และไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากนัก รวมถึงเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

(+) การเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น ยังคงเดินหน้าตามโรดแมพได้ การประกาศช่วงเวลาการเลือกตั้งที่ชัดเจน ก็ช่วยให้ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นดีขึ้นด้วย

(+) หลังเสียงข้างมากในสภาล่างเป็นของพรรคเดโมแครต การออกกฎหมายของสหรัฐในระยะต่อไปจะมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้า ทั้งนี้การค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ คงจะมีการตรวจสอบเข้มขึ้น หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีกรอบ ดังนั้นความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกก็จะคลายลงไปบ้าง

(+/-) ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงแรง หากนักลงทุนระยะกลางและระยะยาว เป็นโอกาส ทยอยซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีจาก ดัชนีที่ 1,600 จุด P/E เพียง 15 เท่า และมองกำไรปีหน้า P/E ไม่ถึง 14 เท่า

(+/-) ความกังวลเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับมากดดันอีกครั้ง หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนต.ค.พุ่งขึ้น 250,000 ตำแหน่ง และตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ย +3.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้บอนด์ยิวสหรัฐฯ 10 ปีดีดตัวขึ้นมาสู่ระดับสูงราว 3.2% อีกครั้ง

(-) ต้องติดตาม 1) ตลาดยังมีความเสี่ยงในเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ (Trade war) เป็นปัจจัยกดดันตลาดทั่วโลก รอดูการหารือกรณีข้อพิพาททางการค้าระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. 2) นโยบายดอกเบี้ยสหรัฐฯ

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน

การลงทุนในหุ้นจะเน้นบริษัทคุณภาพที่มีรูปแบบธุรกิจที่เข้มแข็ง มีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่อง มีฐานะการเงิน แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูง และมีแนวโน้มการจ่ายปันผลดีอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นในช่วงที่ตลาดผันผวนและราคาหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดีลดต่ำลงกว่าราคาที่ควรจะเป็น รวมถึงได้ลดสถานะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ราคาหุ้นขึ้นมามากกว่าราคาที่ควรจะเป็น และ/หรือแนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือบริษัทอาจแย่ลงในอนาคต เช่น เทคโนโลยี
สารสนเทศและการสื่อสาร พลังงาน โดยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอุตสาหกรรมพาณิชย์ การแพทย์ อาหาร/เครื่องดื่ม ธนาคาร โรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ การเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมหรือรายบริษัท จะขึ้นอยู่กับกรอบนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ด้วย

ผลการดำเนินงานและความผันผวนของผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 28 ก.ย. 2018