ในช่วงปลายปี 2017 ที่ผ่านมา เราเห็นธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในประเทศไทยเปิดตัวการให้บริการการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “คิวอาร์โค้ด (QR Code)” ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการสนับสนุนให้ลดปริมาณการใช้เงินสดและส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการจัดการเงินสด ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล เพื่อเป็นการปูทางให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ซึ่งหลายประเทศได้นำร่องไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศในยุโรปและอเมริกา สำหรับในเอเชีย ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นประเทศที่สามารถนำระบบ Digital Payment เข้ามาใช้ในการทำธุรกรรมการเงินแทนการใช้เงินสดได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี โดยมี QR Code เป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศจีนเข้าใกล้ความเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบและเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในสังคมไปอย่างสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ QR Code ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วทุกหัวระแหงในประเทศจีน ทั้งในเมืองใหญ่ไปจนถึงหมู่บ้านเล็กๆ ทั้งธุรกรรมที่มีมูลค่าต่ำไปจนถึงธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง ว่ากันว่า ผู้คนในประเทศจีนสามารถใช้ชีวิตใน 1 วันได้โดยไม่จำเป็นต้องพกกระเป๋าสตางค์ เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือที่มีแอปพลิเคชันซึ่งลิงค์กับบัญชีธนาคารก็สามารถชำระค่าสินค้าอย่างง่ายดายด้วยการสแกน QR Code โดยผู้ให้บริการหลักในตลาด Mobile Payment ของจีน คือ Alipay ในกลุ่มของ Alibaba ผู้ให้บริการค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ และอีกรายคือ WeChat Pay ของ Tencent ผู้นำด้านโซเชียลมีเดียและเกมส์ออนไลน์ โดยปัจจุบันทั้ง 2 รายมีส่วนแบ่งในตลาดรวมกันมากกว่า 90% ซึ่งนอกจากการนำมาใช้ในการชำระค่าสินค้าแล้ว QR Code ยังช่วยส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจรูปแบบใหม่ในประเทศจีนที่เรียกว่า Sharing Economy หรือเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน ตัวอย่างเช่น Bike Share หรือบริการให้เช่าจักรยานสาธารณะ และ Umbrella Share หรือบริการตู้เช่าร่ม อีกทั้งยังทำให้พฤติกรรมทางสังคมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น การใช้ QR Code ในการให้ทิปในร้านอาหาร การให้เงินขอทาน หรือแม้กระทั่งการใส่ซองในงานแต่งงานและการให้อั่งเปา เป็นต้น
ด้วยรูปแบบการใช้งานที่ง่าย สะดวกสบาย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบันที่สมาร์ทโฟนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และการเข้าถึง Internet ได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการตอบรับและให้การสนับสนุนจากภาคเอกชนและรัฐบาล ทำให้การใช้ QR Code ในประเทศจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและทำให้เศรษฐกิจเติบโตแล้ว การเติบโตของ Mobile Payment ยังส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หลัก ๆ คือ ธุรกิจการให้บริการ Mobile Payment และธุรกิจโทรคมนาคมแบบไร้สายหรือบริการ Internet รวมทั้ง ธุรกิจค้าปลีกและ e-Commerce ซึ่งปัจจุบันจีนกลายเป็นตลาด e-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในแง่ที่ทำให้ประเทศสามารถลดการพึ่งพาเงินสด ช่วยแก้ปัญหาธนบัตรปลอม และเป็นการนำเงินเข้าสู่ระบบทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่าย การหลีกเลี่ยงภาษีจึงทำได้ยากขึ้น และในท้ายที่สุดเมื่อรัฐบาลเก็บภาษีจากเงินในระบบได้ ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
กลับมาที่ประเทศไทย ถึงแม้ว่าการนำ QR Code มาใช้ในระบบการชำระเงินยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากนัก แต่หากเราเรียนรู้จากบทเรียนของต่างประเทศ และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของสังคมและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในปัจจุบัน รวมทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลร่วมมือกันผลักดัน เชื่อว่า QR Code จะเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นต่อจาก Prompt Pay ที่นำประเทศไทยเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสด
เต็มเดือน พัฒจันจุน
Fund Management