By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
ก่อนหน้านี้เราเล่าเรื่องราวการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน ทางบกไปแล้ว นั่นคือการพัฒนาถนนและจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาดีขึ้น ในครั้งนี้ เราจะมาเล่ากันต่อถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอีกอย่างของประเทศ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางทางอากาศ เพราะหากประเทศพัฒนาด้านนี้ได้ดีแค่ไหน จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้การท่องเที่ยวของประเทศขยายตัวดีขึ้นเท่านั้น
จากรายงานจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศผ่านทางอากาศครอบคลุมผู้โดยสารที่มาต่อเครื่องบินด้วย ของ 10 ประเทศในอาเซียน พบว่า มีอัตราการเติบโตรวดเร็ว โดยเมื่อปี 2004 ประเทศทั้งหมดในอาเซียนมีจำนวนผู้เดินทางระหว่างประเทศผ่านทางอากาศ 92.4 ล้านคน ก็เติบโตก้าวกระโดดขึ้นเป็น 288.8 ล้านคนในปี 2017 เรียกว่าขยับขึ้นมา 3 เท่าตัวทีเดียว
เป็นที่น่าดีใจสำหรับตัวเลขด้านนี้ เพราะไทย ครองแชมป์ อันดับ 1 ของประเทศในอาเซียนที่มีผู้เดินทางระหว่างประเทศผ่านทางอากาศมากที่สุด โดยตัวเลขปี 2017 อยู่ที่ 78.3 ล้านคน ตามด้วย สิงคโปร์ 61.6 ล้านคน มาเลเซีย 49.8 ล้านคน และอินโดนีเซีย 31.6 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เดินทางทางอากาศ ของกัมพูชา เมียนมา ลาว และบรูไน รวมกันยังไม่ถึง 8 ล้านคนด้วยซ้ำ
เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี จะพบว่า อยู่ที่ 20.5% ระหว่างปี 2005-2017 โดยอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางระหว่างประเทศทางอากาศเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงที่สุด ขณะที่ลาว เมียนมา และกัมพูชา แม้ยอดผู้โดยสารเดินทางระหว่างประเทศทางอากาศยังน้อย แต่ในเชิงการเติบโต ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตต่อปีสูงอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศอาเซียน พบว่า ขึ้นไปแตะระดับ 125.5 ล้านคนในปี 2017 เพิ่มขึ้นถึง 220.7% เมื่อเทียบกับปี 2000 หรือเติบโตเฉลี่ย 7.1% ต่อปี โดยประเทศที่มีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนเฉลี่ยต่อปี ระหว่างปี 2000-2017 มากที่สุดในภูมิภาค คือ เมียนมา เติบโตปีละ 16.1% กัมพูชา 15.7% และเวียดนาม 11.1%
อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินในเชิงประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยี่ยมเยือนมากที่สุด ประเทศไทยครองตำแหน่งนี้ในปี 2017 มีชาวต่างชาติมาเที่ยว 35.4 ล้านคน ตามด้วย มาเลเซีย 25.9 ล้านคน สิงคโปร์ 17.4 ล้านคน อินโดนีเซีย 14 ล้านคน เวียดนาม 12.9 ล้านคน ขณะที่ลาวและเมียนมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยี่ยมเยือนต่ำกว่า 4 ล้านคน
เมื่อเจาะให้ลึกมากขึ้น จะพบว่า การเดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศต่างๆ ในอาเซียนนั้น เป็นการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอาเซียนกันเอง 49.1 ล้านคน ในปี 2017 หรือคิดเป็น 39.1% ของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนอาเซียนโดยรวม ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อไปเทียบกับปี 2000 ที่มีการเดินทางภายในอาเซียนเอง 15.9 ล้านคน
โดยภาพรวมแล้ว ประเทศใดที่มีคนเดินทางไปท่องเที่ยว ย่อมมีการใช้จ่ายเกิดขึ้นตามมา ไม่ใช่แค่การใช้จ่ายเพื่อเดินทางทางอากาศเท่านั้น แต่ยังมีการใช้จ่ายค่าที่พัก อาหาร หรือชอปปิ้งภายในประเทศนั้นด้วย ดังนั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ จึงเป็นอีกพลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนให้เติบโต