BF Asean Corner
ประเด็น Trade tension ที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 2018 แม้ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง เนื่องจากสหรัฐและจีน เป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ แต่ท่ามกลางความท้าทายนี้ เราจะเห็นสัญญาณการย้ายฐานผลิตมาประเทศแถบอาเซียนมากขึ้นโดยเฉพาะเวียดนาม เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจ 2 รายการของเวียดนาม ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐ
1) ตัวเลขการขอลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Register) ของเวียดนาม 2 เดือนแรก ขยายตัว 58% โดยจากจีนขยายตัวสูงสุด 46% บ่งบอกภาพการย้ายฐานผลิตของบริษัทจากต่างชาติมาเวียดนามชัดเจนมาก โดยเวียดนามเป็นฐานผลิตสำคัญของอาเซียน เพราะเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีแรงงานวัยหนุ่มสาวมากกว่า 55 ล้านคน 5 ปีที่ผ่านมายอดลงทะเบียน FDI ไหลเข้าเพิ่มเป็น 2 เท่า ส่วนยอดลงทุนจริงขยายตัวเฉลี่ย 8-10% ต่อเนื่องทุกปี ทำให้ปัจจุบันยอดส่งออกเวียดนามกว่า 70% มาจากบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในเวียดนาม พลิกโฉมเวียดนามจากประเทศขาดดุลการค้าเป็นเกินดุลการค้า ซึ่งที่ผ่านมาประเทศที่ลงทุนสะสมสูงสุดคือเกาหลี สัดส่วน 60% ของ FDI ทั้งหมด เนื่องจากมาตั้งฐานผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามด้วย FDI ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
2) ตัวเลขส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐ ขยายตัวสูงเห็นได้ชัด โดยปี 2018 ขยายตัว 14.2% ล่าสุด 2 เดือนแรกปี 2019 ขยายตัว 36% โดยเฉพาะสินค้าที่สหรัฐเก็บภาษีจากจีนเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเวียดนามได้อานิสงส์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน 2 ระยะ ระยะสั้น ได้ประโยชน์บ้างแล้วจาก FDI ที่ไหลเข้าเวียดนามช่วงนี้ เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เพราะการเช่าพื้นที่ Industrial Zone ในฮานอยและโฮจิมินห์เพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มท่าเรือที่ขยายตัวตามกิจกรรมนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยข้อมูล 9 เดือนแรก ปริมาณการผ่านของตู้คอนเทนเนอร์ขยายตัวสูงถึง 27% ส่วนผลระยะยาวต้องอาศัยเวลา จะมาจากการเปลี่ยนแปลง Supply Chain โลก ตามการย้ายฐานผลิต สินค้าที่ใช้แรงงานจะย้ายฐานผลิตมาเวียดนาม ขณะที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมศักยภาพเนื่องจากเวียดนามมีความเชี่ยวชาญและรัฐบาลยังให้การสนับสนุน FDI กลุ่มเทคโนโลยีอีกด้วย