อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวอายุ 5 ปีขึ้นไปที่ลดลงประมาณ 18-50 bps. ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ
ด้านปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดวงเงินประมูลพันธบัตรธปท. ระยะสั้น รวมถึงออกมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นลง 42,721 ล้านบาท แต่มียอดถือครองตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้น 16,979 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังมองว่าตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย (Safe haven) ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
นอกจากนี้ การที่ Fitch rating และ Moody’s ปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทย (Outlook) เป็นเชิงบวก (Positive) จากมีเสถียรภาพ (Stable) ทำให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อตราสารหนี้ไทยและมีแรงซื้อในตราสารหนี้ระยะยาว
ด้านปัจจัยต่างประเทศ ธนาคารกลางหลักของโลกส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรปที่มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะต่อไป ธนาคารกลางญี่ปุ่น มีมติ 7 ต่อ 2 ให้คงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติ 8 ต่อ 2 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมครั้งถัดไป
นอกจากนี้ มีธนาคารกลางในภูมิภาคปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนนี้เช่นกัน ได้แก่ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ซึ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 5.75% ทำให้ตราสารหนี้ไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ของประเทศเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากเดิม 1.75% เหลือ 1.50% ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณชะลอตัว ส่งออกหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ และเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ณ สิ้นวันลดลงจากวันก่อนหน้าประมาณ 3-16 bps. โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับลดลง 9 bps. มาอยู่ที่ 1.63% นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมยังมีธนาคารกลางหลายประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย ฟิลิปปินส์ และนิวซีแลนด์ที่ออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งเป็นไปตามกระแสการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายทั่วโลก
แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะข้างหน้า ยังคงต้องติดตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ เช่นทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ ธปท. ขณะที่ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้ายังไม่มีท่าทีจะได้ข้อยุติและจะยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลกรวมถึงตลาดตราสารหนี้ไทย