ลดความไม่เท่าเทียม รู้จักวางแผนการเงิน (ตอนที่1)

By… พนิต ปัญญาบดีกุล

* ความไม่เท่าเทียมในสังคมไทย

หากพิจารณาในแง่มุมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือรายได้ของคนไทย จะเห็นได้ว่ายังมีความไม่เท่าเทียมหรือความเหลื่อมล้ำ (inequality) ค่อนข้างสูง ไม่นับรวมถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น บางคนเกิดมาในครอบครัวที่เป็นมหาเศรษฐี มีทรัพย์สินหมื่นล้าน พันล้าน ในขณะที่บางคนเกิดมาในครอบครัวคนชั้นกลาง หรือยากจน

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติชาติ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนของคนไทยในปี 2558 ในแต่ละจังหวัดก็ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่สูง กรุงเทพฯและปริมณฑลมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนสูงถึง 41,002 บาท

ถ้าหากพิจารณารายภาค ภาคกลางเป็นภาคที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนสูงที่สุด 26,601 บาท ตามมาด้วยภาคใต้ 26,268 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21,049 บาท และภาคที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนน้อยที่สุดคือภาคเหนือ 18,952 บาท

5 ประเด็นหลักตอบคำถาม ทำไมคนจนยิ่งจน

1. การเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม ขีดความสามารถหรือเทคโนโลยีไม่สามารถแข่งขันได้ ส่งผลให้คนที่ร่ำรวยขึ้นก็จะเป็นนายทุนในขณะที่รายได้ของคนในภาคเกษตรก็ลดลง

2. คนจนเสีย VAT ในอัตราส่วนเมื่อเทียบกับรายได้สูงกว่าคนรวย ภาษีที่เก็บจากสินค้าและบริการถือเป็นรายรับที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีหลักการเก็บคือเก็บตามที่ใช้สินค้าหรือบริการในอัตราเดียวกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรายได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน หรือไม่มีรายได้ ก็เสียในอัตราเท่ากัน ซึ่งดูเหมือนจะมีความยุติธรรมเพราะทุกคนถูกปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่ถ้าคิดจำนวนภาษีสำหรับคนที่มีรายได้ต่างกัน จะพบว่าคนจนเสียภาษีในอัตราส่วนเมื่อเทียบกับรายได้สูงกว่าคนรวย ซึ่งจะส่งผลต่อสัดส่วนรายได้คงเหลือที่ต่ำกว่าเช่นเดียวกัน

3. การเข้าถึงสาธารณูปโภคหรือสาธารณะประโยชน์ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ระบบขนส่ง รถไฟ รถเมล์ฟรี และสวัสดิการต่างๆ อาจจะมีจุดประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการและแบ่งเบาภาระ แต่คนจนบางส่วนอาจจะยังเข้าไม่ถึงหรือไม่ได้ใช้บริการในส่วนนี้ เพราะ สาธารณะประโยชน์โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาในด้านคุณภาพ ก็จะเห็นว่ายังมีความไม่เท่าเทียม เช่น โรงเรียน โรงพยาบาลก็ยังมีคุณภาพอยู่บนระดับพื้นฐานเท่านั้น ส่งผลให้ถึงแม้จะมีระดับการศึกษาที่เท่ากันแต่คุณภาพทางการศึกษาที่แตกต่างกันก็จะส่งผลในด้านการทำงาน และหารายได้ในอนาคต เช่นเดียวกันกับระบบการรักษาพยาบาลก็มีความแตกต่างกันในด้านคุณภาพ

4. ความแตกต่างทางด้านกรรมสิทธิ์ถือครองในทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน ซึ่งในปัจจุบันอาจจะ 10% ของคนไทยเท่านั้นที่ถือครองกว่า 60% ของที่ดินในประเทศทั้งหมด รวมถึงทรัพย์สินด้านอื่นๆ ที่ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี

5. ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนหรือแหล่งเงินกู้ เพราะไม่มีหลักประกัน หรือไม่มีเครดิต ทำให้ขาดโอกาสในการเริ่มต้นหรือขยายโครงการหรือกิจการต่างๆ