BF Asean Corner
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เทียบกับปี 2018 เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี เพราะทั้งค่าเงินและดุลบัญชีเดินสะพัดมีเสถียรภาพ
อินโดนีเซีย แม้จะเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้อยที่สุดในอาเซียน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ไทย มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอยู่ ผ่านการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงตาม ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์มาก จึงได้รับผลกระทบไปด้วยโดยปริยาย ดังนั้นจึงมองว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีนี้น่าจะเติบโตได้ประมาณ 5% ลดลงจากปีที่แล้วที่เติบโตได้ 5.2%
เมื่อมองไปถึงปี 2020 เศรษฐกิจอินโดนีเซียน่าจะเติบโตดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.1% มาจากการที่ปีหน้าอินโดนีเซียน่าจะอยู่ในวงจรการลงทุนที่เติบโตดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาอินโดนีเซียพยายามลดการนำเข้าลง เพื่อลดการขาดดุลการค้า แต่ปีหน้า เมื่อ โจโค วิโดโด หรือโจโควี เพิ่งจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ไปเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ก็มองว่า น่าจะมีการออกนโยบาย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น มีการออกโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลของวงจรการลงทุนรอบนี้น่าจะมีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2021
ทั้งนี้ เมื่อมองไปถึงทิศทางนโยบายการเงินและนโยบายการคลังปี 2020 คาดว่า ในส่วนของนโยบายการเงินนั้น ปี 2019 ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 4 ครั้งแล้ว หรือลดจาก 6% เหลือ 5% แล้ว จากนี้จนถึงสิ้นปี 2019 จึงน่าจะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก แต่มีสิทธิที่ในปี 2020 จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 1 ครั้ง 0.25%
การที่กองทุนบัวหลวงมองว่า อินโดนีเซียจะลดอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆ เนื่องจากอินโดนีเซียน่าจะพยายามรักษาความน่าสนใจของการลงทุนเอาไว้ โดยรักษาช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียไม่ให้แคบลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่นๆ
ในส่วนของนโยบายการคลัง หลังโจโควี เข้ามารับตำแหน่งสมัยที่ 2 มีการประกาศนโยบายหลัก 2 ด้าน คือ 1.เน้นไปที่การศึกษา การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ และ 2.เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศอินโดนีเซียยังมีความน่าสนใจ ปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะมีโอกาสเติบโตได้อยู่
สำหรับประเด็นความท้าทายที่ต้องติดตามในปี 2020 แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ปัจจัยนอกประเทศ และปัจจัยในประเทศ โดยปัจจัยนอกประเทศ เรื่องสงครามการค้าหรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน น่าจะยังเป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของอินโดนีเซีย โดยมีสัดส่วน 14-15% ซึ่งหากจีนชะลอตัวจากสงครามการค้า ก็จะกระทบอินโดนีเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนปัจจัยในประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วยความเสี่ยง 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.กองทุนบัวหลวงมองว่าปีหน้ารัฐบาลอินโดนีเซียน่าจะยกเลิกหรือลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน เชื้อเพลิง ซึ่งน่าจะกระทบการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เพราะทำให้คนมีกำลังซื้อลดลง 2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแม้ว่าจะเน้นลงทุนโครงสร้างเหมือนเดิม แต่เมื่อเทียบกับสมัยแรกที่โจโควีเป็นประธานาธิบดี ก็มองว่า ในสมัยนี้ของโจโควี เริ่มสนใจให้ความสำคัญกับการศึกษา ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาจไม่ได้มากอย่างที่คาดหวังไว้ อย่างไรก็ตามการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ ทำให้ในอินโดนีเซียมีแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่ออนาคตระยะยาว เป็นการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในอินโดนีเซียมากขึ้น และ 3.การปฏิรูปของโจโควี เพื่อที่จะดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) อาจเผชิญกับอุปสรรค จากฝั่งธุรกิจและภาคการเมืองที่อาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกันทำให้ความคืบหน้าของการปฏิรูปอาจล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้