“ความรู้” คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินบ่อยครั้งว่า สาเหตุหนึ่งที่คนไม่ลงทุน ก็เพราะไม่มีความรู้ ความเข้าใจ จึงไม่กล้าเริ่มต้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานที่มีความสำคัญในตลาดทุน ก็ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้อย่างมาก ทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันให้บริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ร่วมให้ความรู้กับประชาชนด้วย
สำหรับ กองทุนบัวหลวง นับเป็นองค์กรหนึ่งของภาคตลาดทุน ที่เดินหน้าให้ความรู้ด้านวางแผนการเงิน และการลงทุนกับประชาชนอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกทั้งให้ความสำคัญที่จะให้ทีมงานกองทุนบัวหลวงเดินสายไปจัดกิจกรรม “เปิดโลกลงทุนกับกองทุนบัวหลวง” และในการจัดกิจกรรม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทีมงานมีโอกาสพบกับ ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เดินทางไปเปิด ‘Set Investment Center (SET IC)’ หรือ ศูนย์เรียนรู้การลงทุนขึ้นอีกแห่งที่นั่น จึงใช้โอกาสนี้ สัมภาษณ์ถึงแนวทางในการให้ความรู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ดร.กฤษฎา กล่าวว่า การเปิดศูนย์เรียนรู้การลงทุน หรือ SET IC เป็นความตั้งใจของตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องการให้คนไทยทุกพื้นที่ของประเทศเข้าถึงความรู้ทางการเงินและการลงทุน
หากคนในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงความรู้ทางการเงิน การลงทุน น่าจะเป็นประโยชน์ทำให้ชีวิตทางการเงินมีความมั่นคงมากขึ้น ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์จึงมีนโยบายจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา โดยมองว่ามหาวิทยาลัยเป็นศูนย์รวมที่มีทั้งคนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา จึงเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยังประชาชนได้ดี
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ มีศูนย์ SET IC ทั้งหมด 7 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก สงขลา สุราษฎรธานี และอุบลราชธานี
ส่วนเหตุผลที่ตลาดหลักทรัพย์ เลือกจัดตั้งศูนย์ที่ราชภัฏสุราษฎร์ธานี เนื่องจาก สุราษฎร์ธานีอยู่ภาคใต้ตอนบน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นจุดหมายท่องเที่ยวที่สำคัญ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ที่ผ่านมา เราจะได้เห็นข่าวสารว่า คนไทยเป็นหนี้สินมาก มีเงินไม่เพียงพอใช้ในวัยเกษียณ ในเรื่องนี้ ดร.กฤษฎา กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์เห็นความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ การเปิดศูนย์เรียนรู้ก็จะทำให้ผู้คนในจังหวัดนั้นๆ และจังหวัดใกล้เคียง มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้เรื่องการลงทุนด้วยตัวเอง ไม่เพียงเท่านี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเชิญชวนให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่างๆ มาจัดสัมมนา ให้ความรู้กับประชาชนอย่างสม่ำเสมอที่ศูนย์เรียนรู้ของเราด้วย
สำหรับความรู้ที่มอบให้ประชาชน จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ โดยในระดับแรก เป็นความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานก่อน พูดง่ายๆ คือ แนะนำ รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ รู้ขยายผล เช่น คนต้องทำงานจึงจะมีรายได้ ต้องหักมาเก็บก่อน แต่คนส่วนใหญ่ใช้ไปเรื่อยๆ แล้วค่อยเก็บ ดังนั้น เราก็จะแนะนำให้เก็บก่อน แล้วค่อยมาควบคุมการใช้จ่าย
เมื่อสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ ก็จะมีเงินออมเพิ่ม คราวนี้ ก็ต้องไปต่อยอด วิธีดั้งเดิม คือ ไปธนาคาร ซึ่งก็ยังเป็นวิธีที่ดี แต่ว่า ผลตอบแทนต่อปี ก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 1% เราก็อาจจะต้องเรียนรู้ว่า ผสมผสานใหม่ดีหรือไม่ มีวิธีที่เดินทางที่ทำให้ผลตอบแทนขยับเพิ่มไปเป็น 4-5% หรือไม่ แต่แน่นอนว่า 4-5% มีความเสี่ยง เราจะจัดอย่างไรจึงจะรับความเสี่ยงได้ และผลิตภัณฑ์ในตลาดเอง ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวม หรือหุ้นรายตัว ช่วยตอบโจทย์ได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราก็หวังว่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ประชาชนเข้าใจเรื่องนี้ แล้วไปทำเรื่องการเงินขั้นพื้นฐานของตัวเองให้ดีขึ้น
ดร.กฤษฎา กล่าวถึงเรื่องการออมเงินและการลงทุนกับกองทุนรวมว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีผลตอบแทนและมีความเสี่ยง ซึ่งจริงๆ แล้ว บางคนไม่มีเวลาติดตาม ไม่รู้ว่า จะวิเคราะห์อย่างไร ดังนั้น หากต้องการให้มืออาชีพจัดการ ก็สามารถใช้บริการกองทุนรวมได้ เนื่องจากกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ความสามารถ มีนักวิเคราะห์ อีกทั้งกองทุนมีหลายชนิดให้ผลตอบแทนในลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งนักลงทุนก็ต้องมาเรียนรู้ว่า ชอบแบบไหน เช่น เป็นที่สะสมเงินระยะยาวได้ กองทุนบางประเภทก็ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งก็ทำให้เงินที่ประหยัดภาษีนำไปลงทุนต่อได้อีก
สิ่งเหล่านี้ คือ ความตั้งใจของภาคตลาดทุนที่ต้องการให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงความรู้ทางการเงิน การลงทุนอย่างทั่วถึง อย่างกองทุนบัวหลวง ที่มีพันธกิจแน่วแน่ในการ “ทำให้ครอบครัวไทย มีความมั่นคงทางการเงิน”