คนมีแฟน…ต้องวางแผนทางการเงิน

คนมีแฟน…ต้องวางแผนทางการเงิน

โดย     พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

การวางแผนการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจ  เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคงและเสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง     กล่าวคือ สามารถบริหารจัดการเงินของตัวเองให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเงินออม เงินลงทุนเพื่อเป้าหมาย เงินสำรองฉุกเฉิน ฯลฯ ส่งผลให้มีความสุขได้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต

การวางแผนการเงินส่วนบุคคลจะไม่เป็นเรื่องส่วนบุคคลอีกต่อไป แต่จะกลายเป็น “เรื่องของเรา”  ทันที หลังจากที่มีแฟนและทดลองอยู่ด้วยกันหรือแต่งงานกัน  เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของการใช้ชีวิตร่วมกันคือ “ความเข้าใจที่ตรงกัน” ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความคิดและทัศนคติในการใช้ชีวิตเท่านั้น  แต่ยังรวมไปถึงความคิดและทัศนคติทางการเงินด้วย

เทคนิคการวางแผนทางการเงิน สำหรับคนมีแฟนที่สำคัญมากที่สุดคือ “พูดคุยกัน” โดยต้องทำความเข้าใจกันเรื่อง “เป้าหมายทางการเงิน” ทั้งเป้าหมายส่วนบุคคลและเป้าหมายที่มีร่วมกัน เพื่อที่จะกำหนดทิศทางการเดินไปข้างหน้าร่วมกัน และสามารถนำไปสู่การจัดพอร์ตลงทุนเพื่อเป้าหมายเดียวกันได้อย่างราบรื่น

ยกตัวอย่าง การซื้อที่อยู่อาศัย  หากไม่พูดคุยกัน ก็อาจไม่ทราบว่า คนหนึ่งอยากได้ทาวน์โฮม  อีกคนอยากได้บ้านเดี่ยว หรือคนหนึ่งอยากอาศัยอยู่ฝั่งธนฯ อีกคนอยากอยู่ฝั่งพระนคร  อย่างนี้เป็นต้น

สังเกตได้ว่า เป้าหมายทางการเงินที่แตกต่างกันจะใช้เงินออม/เงินลงทุน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้นไม่เท่ากัน และหากไม่พูดคุยกันตั้งแต่แรก ก็อาจทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ เพราะคิดว่าอีกฝ่ายไม่เห็นความสำคัญของเป้าหมายจึงออมเงินน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีได้

จากนั้นต้องคุยเรื่อง  “กระเป๋าเงิน” ว่าจะจัดสรรอย่างไรให้ลงตัวระหว่างกับ บัญชีฉัน – บัญชีเธอ – บัญชีเรา เรื่องนี้สำคัญและต้องตกลงกันตั้งแต่แรกเช่นกัน เพราะบางคู่สะดวกใจกับการใช้กระเป๋าเงินใคร กระเป๋าเงินมัน  ค่าใช้จ่ายทั้งหมดหารครึ่ง หรือบางคู่ก็อาจไม่หารครึ่ง แต่ใช้วิธีใครมีรายรับมากกว่าก็จ่ายในสัดส่วนที่มากกว่า เป็นต้น

ส่วนตัวเลือกใช้วิธีผสมผสานคือ  บัญชีฉัน เพื่อใช้จ่ายประจำวัน ออมเงิน ลงทุนตามเป้าหมายบุคคล บัญชีเธอ สอบถามความเป็นไปด้วยความห่วงใย แต่จะไม่เข้าไปบริหารจัดการ และ บัญชีเรา  สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าสาธารณูปโภค ค่าเลี้ยงดูสุนัข เป็นต้น โดยเงินส่วนบัญชีเรานี้จะพักไว้ในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น

สำหรับเรื่องการลงทุนของคนมีแฟนขอให้แบ่งเป็น  2  ส่วน โดยส่วนแรกสำคัญที่สุดและไม่อยากให้ละเลย คือ “การลงทุนเพื่อเป้าหมายส่วนบุคคล” ซึ่งควรแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยเฉพาะเป้าหมายระยะยาวเพื่อเกษียณถูกจัดไว้เป็นเป้าหมายส่วนบุคคล ไม่แนะนำให้นำไปรวมกับเป้าหมายของทั้งสองคน เพราะนอกจากจะจัดสรรได้ลำบากแล้ว ในการบริหารพอร์ตการลงทุนก็ลำบากด้วย เพราะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านความเสี่ยงที่ยอมรับได้  ผลตอบแทนที่ต้องการ  และจำนวนเงินที่ต้องการใช้  เนื่องจากมีความต้องการใช้ชีวิตเกษียณในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน

สุดท้ายนี้อย่าลืมว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ไม่มีใครรู้ว่าชีวิตของเรานั้นจะคงอยู่ได้นานเท่าไร เช่นเดียวกันกับชีวิตคู่ที่เราไม่อาจคาดเดาวันที่จากลาได้ การมีเพื่อนคู่คิดนั้นเปรียบเสมือนกำไรในชีวิตที่มีใครสักคนหนึ่งคอยเป็นแรงสนับสนุนและเป็นกำลังใจที่ดีให้กับเรา ทำให้บริหารจัดการเงินได้ดีและมีสีสันมากกว่าที่เคย แต่คงเป็นการดีกว่า…ถ้าเราสามารถวางแผนการเงินเพื่อดูแลตัวเองได้อย่างมั่นคง มีความสุขกับการใช้ชีวิต   และคงจะดียิ่งๆ ขึ้นไปอีกถ้าเรามั่งคั่งเพียงพอที่จะดูแลคนที่เรารักให้มีความสุขได้