โดย… วรวรรณ ธาราภูมิ และ เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
กองทุนบัวหลวง
ปีที่ผ่านมา คงเป็นปีที่ไม่สวยงามเท่าไรในแง่ความรู้สึก ความกังวลและตัวเลขทางเศรษฐกิจ แม้ผลตอบแทนจากการลงทุนหลายอย่าง จะไม่ได้แย่ตามความรู้สึก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผลตอบแทนที่ได้จากการวัดแบบปีต่อปี มาจากฐานที่ต่ำของปลายปีที่แล้ว ทำให้ปีก่อน ผลตอบแทนในหลายๆ ส่วน อาจดูสวยขึ้นมา แต่ต้องยอมรับความจริงว่า แก่นแท้ของเศรษฐกิจยังมีปัญหา การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้เกิดการเกิดใหม่และล้มตายทางเศรษฐกิจ หากอยากอยู่รอด ก็ต้องปรับตัว
ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงดลบันดาลให้ทุกท่าน มีความสุข มีสติ รอบคอบ ไม่ประมาท ทั้งการใช้ชีวิตและการลงทุน แม้ว่า ปีที่ผ่านมา ผ่านพ้นไปได้ โดยไม่ได้แย่นักในแง่ของการลงทุน แต่ต้องยอมรับว่า ภาพรวมทางเศรษฐกิจไม่ได้สวยงามแต่อย่างใด การลงทุนในปี 2563 นี้ จำเป็นต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท รอบคอบและพึงระลึกถึงความเสี่ยงความไม่แน่นอนอยู่เสมอ
ควรตั้งอยู่บนความไม่ประมาทในยุคเศรษฐกิจแบบนี้
หลักของการลงทุนใหญ่ๆ ของบุคคล ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากพื้นฐานทั่วไปที่เรารู้กันดี นั่นคือ การจัดพอร์ตลงทุน ต้องจัดตามวัตถุประสงค์เป็นเรื่องๆ ไป เพราะความต้องการของคนเรามีหลายอย่าง การจัดให้เหมาะสมกับโจทย์ ความต้องการและข้อจำกัด ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนการลงทุนระยะยาว ก็ยังคงจำเป็นต้องจัดสัดส่วนให้เหมาะสมกับระยะเวลาการลงทุนที่มีอยู่ โดยผู้ที่อายุยังน้อย สามารถลงทุนระยะยาวได้ สามารถจัดพอร์ตแบบเสี่ยงสูงกว่า โดยมีสัดส่วนของกองทุนหุ้นได้มากกว่าผู้ที่อายุมากแล้ว ใกล้เกษียณ หรือเกษียณไปแล้ว ซึ่งพอร์ตการลงทุนต้องเน้นความมั่นคงเป็นประเด็นหลัก
สำหรับสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมในปีนี้ ก็คือ การให้ความสำคัญกับแผนรองรับความเสี่ยงด้านการเงิน สภาพคล่อง จากเหตุการณ์ที่อาจไม่คาดคิด รวมถึง revise พอร์ตในแต่ละ asset class ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจมากขึ้น
แผนรองรับความเสี่ยงด้านการเงิน สภาพคล่องจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดคิด
ทุกวันนี้ เรามีเงินรายได้จากการประกอบอาชีพ เพื่อนำมาใช้จ่าย นำมาลงทุน ในปีนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดในสิ่งเหล่านี้
- เงินสำรองยามฉุกเฉิน ที่บอกว่าควรจะมี 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เผื่อกรณีตกงานจะได้สามารถดำรงชีพได้ในช่วงหางาน ในวาระปกติ ก็ต้องคิดว่า ที่สำรองไว้นั้นจะเพียงพอไหมในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เช่น
- ทำงานบริษัท มีเงินเดือน แต่ไม่รู้จะตกงานเมื่อไร บริษัทเราอาจจะมีรายได้น้อยลง หรืองานของเรามีโอกาสถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงเพิ่ม 2 ทาง นั่นคือ มีโอกาสตกงานได้มากขึ้น และเมื่อตกงานแล้ว อาจจะใช้เวลาหางานใหม่ที่นานขึ้น กรณีนี้เงินสำรองยามฉุกเฉินที่มีอยู่ ก็ควรต้องมีเพิ่ม เช่นเดิมเก็บไว้ 4 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ก็อาจจะต้องเพิ่มเป็น 6-8 เท่า โดยเก็บไว้ในที่ปลอดภัย สามารถถอนออกมาใช้ง่าย มีสภาพคล่อง เรื่องผลตอบแทนของเงินส่วนนี้ไว้ทีหลัง ควรจะเน้นไว้ที่ปลอดภัยก่อน
- กรณีฟรีแลนซ์ หรือรายได้ขึ้นกับค่าคอมมิชชั่น ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ขายของยากขึ้น รายได้น้อยลง การจัดเงินสำรองยามฉุกเฉิน ก็ต้องประเมินสิ่งเหล่านี้เข้าไปด้วย เช่น เดิมมีเฉพาะกรณีฉุกเฉินตกงาน ก็อาจจะต้องจัดไว้กรณีรายได้ลดลงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายเพิ่มเติมอีกก้อนหนึ่ง ประกอบกับการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง รัดเข็มขัด ลดสันทนาการลงบ้าง
วิธีการ revise พอร์ตในแต่ละ asset class ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจมากขึ้น
ก่อนไปเรื่อง revise port อยากพูดถึงความจำเป็นของการ stay investing ก่อน แม้ว่า เศรษฐกิจจะไม่ดี ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องกลัวขายหุ้น ย้ายสินทรัพย์เสี่ยงไปยังสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า เพราะนั่น แม้จะลดความเสี่ยงให้เรา แต่ก็เป็นการทำลายโอกาสของผลตอบแทน และทำให้แผนการเงินของเราไม่บรรลุเป้าหมายไปด้วย เราทราบกันดีว่าธุรกิจกำลังมีการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่ในระยะสั้นๆ ถึงระยะกลาง ผลตอบแทนจากการลงทุน หรือราคาที่เพิ่มขึ้นลดลง อาจมีตัวแปรอื่นเกี่ยวข้องมากมาย ยกตัวอย่างง่ายๆ ปีที่แล้วทั้งปี บ่นกันเรื่องเศรษฐกิจแย่ ค้าขายยาก ซบเซา ลูกค้าหาย แต่ราคาหุ้นบางกลุ่ม ราคาสินทรัพย์หลายอย่างกลับเพิ่มขึ้น ตาม fund flow เงินที่ยังคงล้นระบบ และนโยบายการเงินต่างๆ ถ้าเรากลัว แล้วถอนสินทรัพย์เสี่ยงออกไปเมื่อต้นปี แน่นอนว่า เราจะพลาดโอกาสฟื้นคืนจากที่ขาดทุนในปีที่แล้วแน่นอน และอย่าลืมว่า ในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยแบบนี้ ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ตกต่ำจนแทบไม่ได้อะไร ผลตอบแทนจากหุ้น หรือสินทรัพย์เสี่ยงประเภทอื่นต่างๆ ที่จะยังคงสร้างผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตให้กับเราและมีโอกาสบรรลุเป้าหมายทางการเงินอยู่
การ revise แผนลงทุนในแต่ละ asset class เป็นเรื่องสำคัญ
ขอให้ทุกท่านนำพอร์ตของตัวเองมาแกะดูก่อน ถือโอกาสสังคายนาเลยก็ดี ถ้าคนที่ลงทุนหุ้นเอง หรือซื้อตราสารหนี้เอง เรื่องนี้จะสำคัญ เพราะหุ้นที่เลือก ตราสารหนี้ที่เลือก อาจมีความเสี่ยงโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ถ้าเลือกหุ้นไม่ดี ตราสารหนี้ไม่ดี
ส่วนที่เป็นตราสารหนี้ ก็ขอว่าอย่าได้วางใจ เพราะตอนซื้อเป็น investment grade หรือเจ้าของบริษัทค้ำประกัน เศรษฐกิจเปลี่ยนไป ถ้ากิจการไม่ดี rating มันร่วงได้ง่ายๆ จะลงทุนในตราสารหนี้ ขอให้มองให้เห็นว่า กิจการนั้นจะมีรายได้จากใคร ลูกค้าหน้าตาแบบไหน กลุ่มไหน เพราะจะทำให้เรารู้ว่า เรารู้จักกิจการนั้นดีแค่ไหนที่จะลงทุน หรือลงทุนแล้วไว้ใจได้แค่ไหน
ถ้าลงทุนผ่านกองทุนรวม เนื่องจากกองทุนรวมปัจจุบันมีมากมาย มีแบบเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม เฉพาะกลุ่มประเทศ ขอให้ประเมินข้อมูลล่าสุดว่า ในระยะกลาง-ยาว ประเทศนั้น หรือภูมิภาคนั้นยังมีจุดแข็งอะไร หุ้นที่จดทะเบียนในประเทศนั้นเป็นอย่างไร มีรายได้จากไหน เพราะปัจจุบัน โลกเชื่อมกัน แม้ว่า จะจดทะเบียนในอเมริกา แต่ค้าขายทั่วโลก ก็ไม่ใช่วิเคราะห์แต่เฉพาะตลาดอเมริกา เป็นต้น
หรือถ้าลงทุนใน sector fund หรือ theme fund ก็ต้องประเมินด้วยว่า sector นั้น หรือ theme นั้นยังน่าสนใจเหมือนตอนที่เราซื้ออยู่หรือไม่
แต่ถ้าเลือกกองทุนรวมแบบไม่เจาะจง ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนในการปรับพอร์ตดูแลพอร์ต ลองดูว่า ในช่วง 3-5 ปี ที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ผลงานเป็นอย่างไร อย่าเทียบแต่ตัวเลขกำไรขาดทุน แต่ให้เทียบกับกองทุนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่เป็นแบบเดียวกัน และอย่าสนใจว่าต้องเป็นเบอร์ 1 top 5 เพราะอันดับเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ง่าย แต่ให้ดูว่าผลตอบแทนโดยรวมเทียบกับความผันผวนเป็นอย่างไร ตรงนี้ สำนักงาน กลต. ขอให้ บลจ.แต่ละแห่งบอกข้อมูลของกองทุนแต่ละกองอยู่แล้ว เราสามารถเปรียบเทียบได้
เมื่อดูแล้ว ถ้าพบว่า พอร์ตของเราก็ไม่ได้แย่ กองทุนที่ถืออยู่ ก็ยังไม่แย่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในหลายๆ ช่วงผลการดำเนินงาน ระยะกลาง-ยาว แบบนี้ก็ลงทุนต่อได้ แต่ถ้าดูแล้ว เริ่มไม่สบายใจกับกองนั้น หรือ sector นั้น หรือ theme เริ่มมีปัญหา ไม่น่าสนใจเหมือนเดิม ก็ขอให้ลองดูกองทุนอื่นๆ แต่ยังเป็นคลาสเดิม คือ กองทุนหุ้น เพื่อ stay invest อย่าหนีไปตราสารหนี้ เพราะแทบจะไม่ได้อะไร แล้วจะเสี่ยงที่เป้าหมายทางการเงินจะไม่บรรลุ เพราะแทบไม่มีผลตอบแทนงอกเงย
ย้ำแนะนำวิธีลงทุนแบบถัวเฉลี่ย
ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ราคาหุ้นตก เท่ากับเรายังมีโอกาสได้ซื้อของถูก แต่ถ้าเราหยุดลงทุน เราปิดโอกาสตัวเองทันที ยังไงหุ้นก็ยังสำคัญ ระยะสั้นๆ อาจดูไม่ดี แต่ระยะยาว ยังคงเป็น asset class ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีสุดโดยเปรียบเทียบ
กรณีเกิดเหตุวิกฤต ราคาหุ้นอาจหล่นรุนแรง ก็เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนในการประเมินและตัดสินใจดูแลเงินให้เราว่าควรปรับเปลี่ยนอย่างไร เพราะเขาย่อมมีข้อมูลในการตัดสินใจที่ดีกว่าเรา