เฟดเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อลดแรงกดดันในตลาด

เฟดเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อลดแรงกดดันในตลาด

BF Economic Research

เฟดเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อลดแรงกดดันในตลาด ส่วน ECB เพิ่มวงเงิน QE ผ่อนคลายเงื่อนไข LTROs (สินเชื่อให้ธนาคารพาณิชย์) แต่ทำตลาดผิดหวังที่คงอัตราดอกเบี้ย 

  • เมื่อวานนี้ (12 มี.ค.) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เข้าสู่ระบบ ผ่านการซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น เมื่อวานนี้ 5 แสนล้านดอลลาร์ และวันนี้อีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลังจากเมื่อวานนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรง และต้องหยุดการซื้อขายเป็นเวลา 15 นาที (Circuit Breaker) ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ Black Monday ในปี 1987 และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลก็ปรับลดลงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน
  • นอกจากนี้ เฟดจะเพิ่มประเภทของหลักทรัพย์ที่จะเข้าซื้อคืนด้วย นอกเหนือจากพันธบัตรระยะสั้น อาทิ ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Bond) และเครื่องมือทางการเงินประเภทอื่นๆ โดยเฟดจะเริ่มซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวในวันนี้จนถึงวันที่ 13 เม.ย. 2020
  • เฟดมีการเพิ่มสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2019

 

  • ขณะนี้ ตลาดคาดว่า เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 100 bps ในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเรามองว่าจะลดดอกเบี้ยลง 100 bps ในการประชุมครั้งนี้เช่นเดียวกันจาก 1.0-1.25% เป็น 0.0-0.25%  หลังจากเฟดปรับดอกเบี้ยลงแบบฉุกเฉินไป 50 bps เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา

  • ด้าน ECB ทำตลาดผิดหวังด้วยการไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายลง อย่างไรก็ดี ECB ประกาศเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Program: APP) ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีก 1.2 แสนล้านยูโรจนถึงสิ้นปีนี้ โดยจะเน้นไปที่การเข้าซื้หุ้นกู้ของภาคเอกชน (Corporate Sector Purchase Program: CSPP) รวมถึงจะให้สินเชื่อแก่ภาคธนาคารในยุโรป (Longe-Term Refinancing Operations: LTROs) โดยเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลงกว่าครั้งก่อน เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้แก่ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งมาตรการเหล่านี้ตลาดมีการคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว
  • ทั้งนี้ นาง Christine Lagarde ประธาน ECB กล่าวว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ในยุโรปต้องเข้ามามีบทบาทหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ ผ่านการใช้จ่ายภาครัฐมากขึ้น ก่อนที่จะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ