เกือบ 6 ปี กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินจากการลงทุนผ่าน BKIND ตอนที่ 5 (ตอนสุดท้าย)

เกือบ 6 ปี กับผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินจากการลงทุนผ่าน BKIND ตอนที่ 5 (ตอนสุดท้าย)

โดย วรวรรณ ธาราราภูมิ

ประธานกรรมการบริหาร

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด

(กองทุนบัวหลวง)

กองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) จัดตั้งมาตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2557 ปีนี้ก็ 5 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 6แล้ว โดย BKIND เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่ผ่านเกณฑ์ ESG ของ บลจ.บัวหลวง (E คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม / S คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม / G คือ การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน)

กองทุนนี้ นอกจากจะลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว ยังมอบผลตอบแทนทางใจอย่างใหญ่หลวงอีกด้วย เพราะ BKIND แบ่งรายได้จากค่าจัดการกองทุนถึง 40% ไปบริจาคให้โครงการที่จะส่งผลดีโดยตรงต่อสังคม และต่อพวกเราโดยทางอ้อม

ในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ถึงเดือน ม.ค.2563) เรามอบเงินค่าจัดการกองทุน 40% หรือกว่า 40 ล้านบาท ไปสนับสนุน 53 โครงการ ในทุกภูมิภาคของไทย

ผู้ลงทุนอาจจะมีคำถามว่า เงินบริจาคจาก BKIND ไปช่วยเหลืออะไรให้กับสังคมเราไปแล้วบ้าง?

ทั้ง 4 ตอนก่อนหน้านี้ เรานำเสนอเรื่องราวของโครงการบางส่วนที่ BKIND เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือมาเล่าสู่กันฟังโดยแบ่งตามความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแวดล้อม เด็กและเยาวชน การศึกษาเรียนรู้ สุขภาพ ผู้สูงอายุ เด็กพิเศษ คนพิการ เมืองและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรม การเกษตร ทำให้ได้รับทราบข้อมูลดีๆ ที่กองทุนรวม คนไทยใจดี ดำเนินการมาตลอดเกือบ 6 ปีที่ผ่านมาแล้ว

ในตอนสุดท้ายนี้ ขอนำเสนอข้อมูลโครงการที่ BKIND มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเพิ่มเติมในด้านที่สำคัญเช่นกัน คือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลไกการสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม และการต่อต้านคอร์รัปชัน ดังนี้

สามจังหวัดชายแดนใต้

  • กลุ่มวิสาหกิจสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 15 กลุ่ม ได้รับทุนกู้ยืมเพื่อพัฒนากิจการเพื่อให้สมาชิกมีอาชีพและพึ่งพาตนเองได้ และเกิดการเชื่อมโยงกลุ่มวิสาหกิจสตรีเข้ากับผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อเสริมศักยภาพในการเข้าถึงตลาดที่กว้างกว่าตลาดในพื้นที่ (โครงการทุนหมุนเวียนเพื่อกลุ่มวิสาหกิจของสตรี 3 จังหวัดภาคใต้)
  • เกิดกลไกการสร้างนักข่าวพลเมืองและการผลิตข่าวสารส่งเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ มีการนำเสนอข่าว 487 ชิ้นที่มีผู้เข้าชม 164,627 คนต่อปี โดย 51% มาจากกทม. (โครงการนักข่าวชายแดนใต้)
  • เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนใน 4 พื้นที่ใน จ.ยะลา มีความพร้อมในการดำเนินกระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน นำไปสู่การค้นหา ระดมปัญหา การตัดสินใจร่วมกัน จนเป็นกติกาชุมชนและการแบ่งหน้าที่กันดูแลเยาวชนให้ปลอดภัย (โครงการ Peace Please)
  • ขยายกระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเยาวชน 8 พื้นที่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นกลไกกติกาชุมชนที่ผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนมีส่วนร่วมกำหนดและปฏิบัติด้วยกัน (โครงการ Peace Please ปีสอง)

กลไกสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม

  • เกิดระบบการเชื่อมโยงอาสาสมัครจากภาคธุรกิจมาสนับสนุนองค์กรภาคสังคมและกิจการเพื่อสังคม โดยมีองค์กรได้รับประโยชน์แล้ว 10 องค์กร มีอาสาสมัครรวม 418 คนใน 1 ปี (โครงการ Hand Up)

การต่อต้านคอร์รัปชัน

  • อบรมนักเรียน 5,000 คน ครู 150 คน ให้รู้เท่าทันและปลูกฝังค่านิยมในการต่อต้านคอร์รัปชันในโรงเรียนกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศ ผ่านการนำหลักสูตรโตไปไม่โกง ไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียน (โครงการโตไปไม่โกง)
  • เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาและเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ประชาชน 2 ล้านคนเข้าถึงข่าวสารประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน ได้รับข้อมูลและเกิดความตระหนักถึงปัญหาและความร้ายแรง นำไปสู่ความมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดและป้องกันปัญหา (โครงการสถาบันอิศรา)
  • เกิดหลักสูตร E-Learning เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการเป็นสุจริตชน ต่อต้านการคอร์รัปชัน ขยายผลจากกลุ่มเป้าหมายนักเรียนนักศึกษาที่ได้ทำลองทำเป็นผลสำเร็จ เข้าสู่เป้าหมายใหม่ คือ กลุ่มข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ (โครงการสุจริตไทย)
  • เกิดกลไกความมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปในการให้ข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ประชาชน 7,538,573 คนเข้าถึง และ/หรือ มีส่วนร่วมในการส่งข้อมูลประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้ประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้รับข้อมูลและเกิดความตระหนักถึงปัญหาและความร้ายแรง นำไปสู่ความมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดและป้องกันปัญหา (โครงการ Crowdsourcing Investigative News)

เหล่านี้ คือ สรุปผลงานที่ไม่ใช่เม็ดเงินของกองทุนรวมคนไทยใจดี หรือกองทุน BKIND ตลอดช่วงเวลากว่า 5 ปีที่จัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เกิดเรื่องราวอันเกิดจากความตั้งใจดีอันเป็นน้ำใจของผู้ถือหน่วยลงทุนและพนักงานกองทุนบัวหลวง ที่จะร่วมกับ กองทุน BKIND ในการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์กลับคืนสู่สังคม โดยการร่วมบริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาท ให้กับ ศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อใช้จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มารับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นโครงการดีๆ ล่าสุดที่ BKIND ดำเนินการไป

ขอขอบพระคุณผู้ลงทุนทุกท่าน ที่ล้วนมีส่วนสร้างประโยชน์ต่อสังคมไทย ผ่านการลงทุนในกองทุนนี้