ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่?

ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่?

โดย ทนง ขันทอง

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดในเวลานี้ คือ ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ (Modern Monetary Theory) ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง

สเตฟานี เคลตัน (Stephanie Kelton) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Stony Brook University เป็นหนึ่งในผู้นำแนวความคิดทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ที่ฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม เธอเพิ่งจะตีพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ ชื่อว่า “The Deficit Myth: Modern Monetary Theory and the Birth of the People’s Economy” เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผ่านการพิมพ์เงินโดยไม่ต้องยับยั้งชั่งใจมาก เพื่อรองรับการขาดดุลทางการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือให้เกิดการจ้างงานอย่างเต็มอัตรา

ที่มา : https://stephaniekelton.com/book/

ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่เชื่อว่าประเทศที่มีอำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือแคนาดา ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องรายได้ของรัฐบาล เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากมีแท่นพิมพ์เงิน หรือมีปุ๋มกดเพื่อสร้างเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเอง จึงสามารถพิมพ์เงินมาใช้จ่ายโดยไม่มีข้อจำกัด ตามที่ยึดถือปฏิบัติกันมา

รัฐบาลจะใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินผ่านรายได้ 2 ทาง คือ การเก็บภาษี และการกู้ยืมเงิน แต่เนื่องจากรัฐบาลผูกขาดการพิมพ์เงิน รัฐบาลสามารถพิมพ์เงินมาใช้จ่ายได้โดยไม่มีข้อจำกัด ถ้าต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายเมื่อใด ก็พิมพ์เงินเลย

เคลตัน เป็นที่ปรึกษาให้กับ เบอร์นี่ แซนเดอร์ส ผู้สมัครชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครท ที่มีแนวความคิดสนับสนุนการเมืองภาคประชาชน และการรื้อฟื้นฐานะของชนชั้นกลางอเมริกันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านนโยบายการลงทุนของรัฐบาล ในเรื่องการศึกษา การวิจัยและพัฒนา และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อให้เกิดการจ้างงาน

หัวใจของทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ คือการผูกขาดการพิมพ์เงินในระบบเงินกระดาษ (fiat Currency system) ของรัฐบาลที่สามารถพิมพ์เงินออกมาได้ โดยไม่ต้องมีทรัพย์สินอะไรมาหนุนหลังค่าเงิน ไม่เหมือนกับสมัยที่โลกเรายังอยู่ในระบบมาตรฐานทองคำ (gold standard) ที่การพิมพ์เงินของรัฐบาลเพื่อใช้จ่ายงบประมาณมีข้อจำกัดว่า ไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจ หรือตามแรงกดดันทางการเมือง เพราะว่าไม่สามารถเพิ่มปริมาณเงินเกินขอบเขตของทองคำสำรอง ด้วยเหตุนี้ ค่าเงินจึงมีเสถียรภาพ และเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหา

ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม การใช้จ่ายที่เกินตัว หรือการดำเนินนโยบายการคลังที่ขาดดุลจะเป็นการเพิ่มหนี้ และจะทำให้เกิดเงินเฟ้อที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ถ้าเงินเฟ้อมากๆ จะทำให้ค่าเงินตกต่ำจนในที่สุดจะทำให้เกิดการสูญเสียความมั่นใจในค่าเงิน การบริหารงานของรัฐบาล และเศรษฐกิจของประเทศ แต่เคลตันเชื่อว่าหนี้ภาครัฐไม่น่าที่จะเป็นปัญหา หรือเป็นสาเหตุที่จะทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย เพราะว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาสามารถก่อหนี้ได้ระดับที่สูง โดยไม่ต้องกังวลกับการขาดดุล ถ้าจะว่าไปแล้ว การขาดดุลของภาครัฐเป็นการได้ดุล หรือการเพิ่มเงินออมให้ประชาชน หนี้ภาครัฐคือเงินที่รัฐบาลใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ โดยไม่เก็บคืนมาผ่านระบบภาษี

ล่าสุดสหรัฐฯ เพิ่มหนี้อย่างรวดเร็วกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เพื่ออุ้มระบบเศรษฐกิจจากการชัตดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้หนี้ภาครัฐเพิ่มไปแตะระดับ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 100% ต่อจีดีพี

นักวิเคราะห์ส่วนมากเป็นกังวลใจกับระดับหนี้ที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ออกพันธบัตรมากู้ยืมเงินโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ เพราะมีธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นกองหนุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลแบบไม่อั้นเหมือนกัน แต่ยังไม่มีผู้ใดกล้ายืนยันว่า หนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ สูงถึงระดับใดถึงจะทำลายความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ

เคลตัน ยกตัวอย่างหนี้ภาครัฐของญี่ปุ่นที่แตะระดับ 240% ต่อจีดีพีแล้ว แต่ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร รวมทั้งค่าเงินเยนก็ไม่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนเรื่องเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยิ่งจะไม่มีปัญหา เพราะว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อมีอัตราติดลบด้วยซ้ำ

เธอ เชื่อว่า ประเทศสหรัฐอเมริกายังสามารถก่อหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดมีการจ้างงานเต็มอัตรา โดยไม่ต้องเป็นห่วงว่าไม่มีเงินใช้จ่าย เพราะว่ารัฐบาลผูกขาดการพิมพ์ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเรื่องเงินเฟ้อก็ไม่ใช่เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะว่าเงินเฟ้อจะเกิดเมื่อการใช้จ่ายภาครัฐสูงกว่าทรัพยากร แรงงานหรืออุปทาน (ซัพพลาย) ที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ถึงเวลานั้นค่อยปรับนโยบายการใช้จ่ายให้เหมาะสม

เคลตัน เชื่อว่า เงินเฟ้อมากจากความไม่สมดุลในอุปทานกับอุปสงค์ มากกว่าการเพิ่มปริมาณเงิน ซึ่งน่าที่จะเป็นสาเหตุหลักมากกว่าของเงินเฟ้อ

ถ้าจะว่าไปแล้ว ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ก็ไม่ใช่เป็นของใหม่แต่ประการใด แต่เป็นแนวความคิดที่ต่อยอดจากทฤษฎีของเคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงจากการแนะนำให้รัฐบาลเป็นผู้นำในการใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ฟื้นความเชื่อมั่นในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ  เอกชนไม่กล้าลงทุน และประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย แต่นโยบายตามแนวของเคนส์ต้องใช้อย่างพอเหมาะพอสมควร เพราะว่าถ้าทำมากเกินไปเศรษฐกิจที่ความจริงแล้วขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนจะคอยพึ่งพาการก่อหนี้ของภาครัฐอย่างเดียว

ที่ผ่านมามีตัวอย่างของหลายประเทศที่ประสบกับวิกฤติการเงินจากการก่อหนี้เกินตัวของภาครัฐ ไม่ว่าจะเห็นหนี้ของละตินอเมริกา หนี้ของประเทศยากจนในแอฟริกา หรือในโลกที่สาม ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดวิกฤติดุลชำระเงิน หรือเงินไหลออกจนค่าเงินพัง

ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความสามารถหรือความยืดหยุ่นกว่าประเทศเกิดใหม่ในการก่อหนี้ แต่ก็มีการศึกษาว่า ถ้าหนี้ของภาครัฐสูงกว่า 100% ต่อจีดีพี อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปจะมีข้อจำกัด

ถ้าจะว่าไปแล้ว ทฤษฎีการเงินสมัยใหม่เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่ได้รับความสนใจ หรือเป็นข้ออ้างในช่วงเวลาที่สหรัฐจำต้องใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบสุดกู่เพื่อกอบกู้ระบบเศรษฐกิจและการเงินหลังจากวิกฤติปี 2008 ที่ไม่มีการปรับโครงสร้างที่แท้จริง และถูกซ้ำเติมจากวิกฤติโควิด-19 ส่วนประเทศเกิดใหม่ หรือกำลังพัฒนา ไม่ควรที่จะนำเอามาใช้ เพราะว่าบทเรียนมีมามากในอดีตของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว หรือการไม่มีวินัยทางการเงินและการคลัง