BF Economic Research
กองทุนบัวหลวงปรับประมาณการ GDP ไทยปี 2020 ลงจากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ -5.2% เป็น -8.0% เนื่องด้วย COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในมุมกว้าง ทั้งนี้
• เราได้ปรับประมาณการการส่งออกและบริการให้หดตัวมากกว่าประมาณการครั้งก่อนเนื่องด้วยหลายประเทศทั่วโลกประกาศปิดน่านฟ้าและน่านน้ำ เป็นผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหยุดชะงัก จากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักเป็นผลให้ออเดอร์สินค้าส่งออกหดตัว นอกจากนี้เนื่องด้วยเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เกิดขึ้นในช่วง High-season ของไทย (High-season ของไทยอยู่ระหว่างเดือน พ.ย.-เม.ย. โดยที่ช่วงพีคของ COVID-19 คือช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย) ทำให้ไทยขาดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศนับตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา
• กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศหดตัวทั้งส่วนของการบริโภคและการลงทุน เนื่องด้วยการจ้างงานและรายได้ของคนไทยมีแนวโน้มที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจเอกชนชะลอการลงทุนออกไปก่อน
• และในช่วงที่เศรษฐกิจหยุดชะงักนั้น ในการประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้ เราให้เครื่องจักรเดียวที่ยังขยายตัวอยู่ คือการบริโภคภาครัฐ สะท้อนผ่านความพยายามของรัฐบาลที่จะประคองเศรษฐกิจผ่านการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 3 ระยะ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของ GDP ขณะที่นโยบายการเงินก็อยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถประคองตัวต่อไปได้ โดยตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา ธปท. ได้ใช้นโยบายทั้งที่เป็นดอกเบี้ย และที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ทั้งสถาบันการเงิน ธุรกิจ ตลาดทุน และประชาชนทั่วไป
• มองไปข้างหน้า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เราคาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมาได้ พร้อมกับที่รัฐบาลทยอยปลดล็อกให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการใกล้เคียงกับปกติ ทั้งนี้ หากไม่มี Second-wave และรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือออกมาอย่างต่อเนื่อง เรามองว่าปี 2020 นี้ GDP ไทยจะหดตัวที่ -8.0% ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาที่ 6.5% ในปี 2021 (เทียบเคียงกับ 95% ของ GDP ในปี2019)
• สำหรับปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะมีผลให้การประมาณการเศรษฐกิจคลาดเคลื่อน ได้แก่ 1) ความสามารถในการควบคุม COVID-19 (ที่จะกระทบทุกส่วนของเศรษฐกิจ) , 2)ภาระหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ (ที่จะกำหนดการใช้จ่ายภายในประเทศ), และ 3) ค่าเงินบาท (ที่จะเป็นเครื่องสะท้อนความถูกแพงของสินค้าส่งออกจากไทย)