ยิลด์พันธบัตรสหรัฐฯ ติดลบเป็นแรงดันราคาทอง

โดย…ทนง ขันทอง

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้วิเคราะห์ผ่านบทความเรื่อง “US Bond Markets Are Behind the New Gold Rush” ว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เป็นแรงดันราคาทองคำให้สูงขึ้นในรอบ 9 ปี คือผลตอบแทน ติดลบที่มากยิ่งขึ้นในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

พันธบัตรสหรัฐฯ ที่มีอายุ 5 ปีตอนนี้ให้ผลตอบแทน -1.16% เมื่อมีการหักเงินเฟ้อออกไป ทำให้แนวโน้มของแรงซื้อของทองคำยังคงมีอยู่อย่างไม่ลดละ

ตั้งแต่ต้นปี ราคาทองได้เพิ่มขึ้นประมาณ 24% ดีกว่าทรัพย์สินต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการล็อคดาวน์ทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการระบาดของไวรัสโคโรนา

ล่าสุด (23 กรกฎาคม) ราคาทองคำในตลาดโลกได้พุ่งไปแตะระดับ 1,885 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เหลืออีกประมาณกว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาทองจะไปทุบสถิติสูงสุดที่ทำเอาไว้ในช่วงปี 2011

ส่วนในตลาดทองคำในเมืองไทยมีการเสนอราคาซื้อที่ 28,100 บาท และราคาขายที่ 28,200บาท ต่อทองคำน้ำหนัก 1 บาท

นักลงทุนหันมาให้ความสนใจในตลาดทองคำ เนื่องจากธนาคารกลาง และรัฐบาลทั่วโลกมีการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ขยายตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ทำให้มีความกังวลใจในเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งหมายถึงการอ่อนค่าลงของค่าเงิน ส่วนสินค้าที่จะซื้อมีราคาแพงขึ้น

เพื่อที่จะปกป้องอำนาจซื้อของเงินที่ถืออยู่ นักลงทุนจึงหันมาลงทุนในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาทองคำกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ตรงกันข้ามกัน

สหรัฐฯ ได้กดเบี้ยลงต่ำระดับ 0% ดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ ยิลด์ หรือผลตอบแทนในการลงทุนในตลาดพันธบัตรลดลงไปด้วย เมื่อหักลบกับเงินเฟ้อแล้วทำให้ยิลด์ที่แท้จริงติดลบ

ในตลาดอีทีเอฟทองคำ มีความคึกคักมากยิ่งขึ้นจากความต้องการของนักลงทุน บลูมเบิร์ก รายงานว่า ที่ผ่านมา กองทุนอีทีเอฟได้เพิ่มการถือทองคำ 28% หรือ 105 ล้านออนซ์ ทำให้มูลค่ารวมของทองคำที่ถืออยู่ในอีทีเอฟทองคำอยู่ที่ 195,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ยิลด์ที่ติดลบทำให้นักลงทุนทิ้งเงินดอลลาร์สหรัฐ อันเห็นได้จากค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมของปีนี้เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐกับค่าเงินอื่นๆ ในตะกร้าดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือ ยูเอส ดอลลาร์ อินเด็กซ์

เริ่มมีนักวิเคราห์หลายคนมองว่า ราคาทองคำอาจจะพุ่งไปต่อไปเพื่อทดสอบระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดย Goldman Sachs ออกรายงานในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ราคาทองคำจะไปได้ระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ราคาของเงิน (silver) ก็พุ่งแรงเช่นกัน โดยราคาของเงินเพิ่ม 20%ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไปแตะระดับ 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือสูงสุดในรอบ 7 ปี