กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (BFRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (BFRMF)

ประเด็นเด่นในตลาดตราสารหนี้

“อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะมีความผันผวนตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังของภาครัฐ ปริมาณพันธบัตรรัฐบาล(Bond supply) ความผันผวนในตลาดการเงินโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดตราสารหนี้”

ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในช่วงปลายเดือน คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00 – 0.25% พร้อมส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และชี้ว่าจะยังคงเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) อย่างน้อยในระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ยังขยายเวลาการทำธุรกรรม Swap Line และ Repo Facility ออกไปจนถึง 31 มี.ค. 2564 เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐ และขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องไปอีก 3 เดือนไปสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2563

นายพาวเวล ประธาน FED ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัวรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 2 และจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อลดลงจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มชะลอลงเมื่อการระบาดรุนแรงขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปความรุนแรงของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ด้านยุโรป ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กล่าวคือ อัตราเงินฝากที่ระดับ -0.50% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Marginal Lending Facility ที่ 0.25% และอัตราดอกเบี้ย Main Refinancing Operations ที่ 0.00% พร้อมทั้งคงวงเงินมาตรการซื้อสินทรัพย์ PEPP ที่ 1.35 ล้านล้านยูโร และคงระยะเวลาของมาตรการถึง มิ.ย. 2564 โดย ECB มีมุมมองต่อเศรษฐกิจว่ายังมีความเสี่ยงสูง

แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นชัดเจนในเดือน พ.ค.-มิ.ย. หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ควบคุมได้และการกลับมาเปิดเมือง แต่เศรษฐกิจยังอ่อนแอกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 มาก การจ้างงานและรายได้ที่ลดลงคาดว่าจะยังฉุดการบริโภคอยู่ โดยยังมองถึงความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังสูงมาก ทั้งนี้ ECB ประเมินว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวถึง 8.7% ในปีนี้และเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ไปถึงสิ้นปี 2565

ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ใกล้ 0% รวมทั้งคงขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ BOJ ลดคาดการณ์ GDP ปีงบประมาณ 2563 ลงมาที่ -5.7% ถึง -4.5% จากประมาณการเดิมในเดือน เม.ย. ที่ -5.0% ถึง -3.0% และประเมินว่าเศรษฐกิจปีงบประมาณ 2564 จะกลับมาขยายตัว 3.0% ถึง 4.0% ด้านอัตราเงินเฟ้อปีงบประมาณ 2563 มีแนวโน้มติดลบในกรอบ -0.6% ถึง -0.4% นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินและสนับสนุนสภาพคล่องให้ธุรกิจและตลาดการเงิน ทั้งเงินเยนและเงินตราต่างประเทศให้เพียงพอผ่านมาตรการซื้อสินทรัพย์และ Dollar Funding Operations อย่างไม่จำกัด และส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและยาวที่ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่าในระยะข้างหน้า

เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ฟิทซ์ เรตติ้งส์มีการปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นลงสู่ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ”แต่ฟิทซ์ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นไว้ที่ระดับ A สาเหตุที่ปรับลดเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหยุดชะงัก ส่งผลลบต่อการส่งออก การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวอย่างหนัก อีกทั้งหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัย

ประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2563 กนง. มีมติ 7 ต่อ 0 เสียง ซึ่งเป็นมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในไทยโดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด

1. การฟื้นตัวจะแตกต่างกันไปในแต่ละ Sector ดังนี้

  • การส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ
  • ด้านอุปสงค์ในประเทศหดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัวและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน
  • คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง

2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวเพิ่มขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปี 2020 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ในกรอบ 1-3% ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้น

3. ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง

4. ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

มุมมองด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะต่อไป กองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันไปตลอดทั้งปี 2563 และน่าจะหันไปใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอื่นมากขึ้นในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะมีความผันผวนตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยเกี่ยวกับกรฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังของภาครัฐ ปริมาณพันธบัตรรัฐบาล (Bond supply) ความผันผวนในตลาดการเงินโลก อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดตราสารหนี้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาล (Bond switching) ในเดือน ส.ค. นี้

ปัจจัยบวก/ลบต่อกองทุน

(+) ธปท. น่าจะหันไปใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอื่นมากขึ้นในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

(+) ต้องติดตามการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาล (Bond switching) วงเงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาทในเดือน ส.ค. นี้

(+) ถ้ากนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้มีผลดีกับตราสารหนี้ระยะสั้น แต่เป็นผลดีกับตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว

(+) ปัจจัยหนุนตลาดตราสารหนี้ ได้แก่ นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก

(+) คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ก็มีโอกาสปรับลดอีก 1 ครั้ง หากเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าคาดอย่างมีนัย

(-) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะมีความผันผวนตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังของภาครัฐ ปริมาณพันธบัตรรัฐบาล (Bond supply)

(-) ความกังวลถึงอันดับเครดิตตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้หลายราย

(-) ความผันผวนในตลาดการเงินโลก อัตราแลกเปลี่ยน

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท USD/THB

ค่าเงินบาทในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14 ส.ค. 2563 ปิดที่ระดับ 31.135 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าจากปลายปี 3.75% ซึ่งอ่อนค่าเป็นลำดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่

(+) กระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.

(+) การอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์

(-) ความกังวลถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

(-) ความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯกับจีน

(-) นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 ในประเทศไทย

(-) ความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังจากมีรัฐมนตรีลาออกหลายตำแหน่งในช่วงเดือน ก.ค.

(-) การชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น

หมายเหตุ: (+) ส่งผลให้เงิน THB แข็งค่า / (-) ส่งผลให้เงิน THB อ่อนค่า

Market Update: กองทุน BFRMF

วันที่จดทะเบียน: 27 พ.ย. 2545

นโยบายการลงทุน: กองทุนลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวในตราสารหนี้ เงินฝาก หรือหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สํานักงาน ก.ล.ต. กําหนดให้ลงทุนได้นโยบายเงินปันผล: ไม่จ่าย

กลยุทธ์ในการบริหารกองทุน: กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)

  • ช่วง 2 เดือนครึ่งที่ผ่านมา (มิ.ย. – 14 ส.ค. 2563) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงอายุคงเหลือ ยกเว้น ช่วง 1 – 3 ปี ที่ปรับลดลง 1 – 9 basis point โดยระยะสั้นช่วงอายุ 1 – 3 เดือน ปรับเพิ่มขึ้น 1 – 2 basis point และช่วงอายุคงเหลือตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปปรับเพิ่มขึ้น 4 – 16 basis point
  • ราคา NAV กองทุน BFRMF ได้เพิ่มขึ้นจาก 15.0269 บาทต่อหน่วย (30 มิ.ย. 2563) เป็น 15.0471 บาทต่อหน่วย (31 ก.ค. 2563)
  • ทั้งนี้ ทีมจัดการลงทุนประมาณการว่า ผลตอบแทนในอนาคต (ในช่วงเดือนก.ย.) หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมน่าจะอยู่ราว 0.80 – 1.00% ต่อปี
  • Portfolio Duration (ตราสารที่กองทุนถือครองมีอายุเฉลี่ย) 2.31 ปี ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2563

ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ 31 ก.ค. 2563 

(1)  จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมของสมาคมบริษัทจัดการกองทุน

(2)  เกณฑ์มาตรฐาน หมายถึง Government Bond Index (Total Return) อายุระหว่าง 1 –  3 ปี สัดส่วน 30% ของ NAV, Government Bond Index (Total Return) อายุระหว่าง 3 – 7 ปี   สัดส่วน 30% ของ NAV และอัตราผลตอบแทนของดอกเบี้ยเงินฝากประจํา 1 ปี วงเงิน 1 ล้านบาท เฉลี่ยของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ สัดส่วน 40% ของ NAV

ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

สัดส่วนการลงทุน (% ของมูลค่าทรัพย์สิน ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2563)