โดย…ทนง ขันทอง
นักลงทุนทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้นที่กำลังจับตาดูความคืบหน้าของไอ้มดยักษ์ Ant Group ที่กำลังแต่งตัวเพื่อเตรียมเข้าไประดมทุนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และตลาดหุ้นฮ่องกงพร้อมๆ กันเลยทีเดียว เพราะว่าจะได้มีโอกาสลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่จะเขย่าตลาดหุ้น เนื่องจากศักยภาพของการเจริญเติบโตแบบกินรวบ
ไอ้มดยักษ์หรือ Ant Group (แอนท์ กรุ๊ป) ซึ่งบริษัทอาลีบาบาถือหุ้นอยู่ประมาณ 30% จะเป็นบทพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีของจีน และความสามารถของตลาดทุนจีนในการพึ่งพาตัวเอง ด้วยการรองรับการระดมทุนขนาดมหึมาของไอ้มดยักษ์ที่เตรียมระดมทุน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการทำไอพีโอแบบพร้อมกัน 2 ตลาด (Dual listing) โดยไม่ต้องง้อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เตรียมกีดกันบริษัทจีนจากนโยบายบอกบุญไม่รับของประธานาธิบดีทรัมป์
ถ้าหากว่าระดมทุนได้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จริง เท่ากับว่ามูลค่าตลาดรวมของไอ้มดยักษ์จะอยู่ที่ประมาณ 200,000- 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้ไอ้มดยักษ์มีขนาดใหญ่กว่าแบงก์ใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ เสียอีก ไม่ว่าจะเป็น Goldman Sachs ที่มีมูลค่าตลาดรวม 71,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ Bank of America ที่มีมูลค่าตลาดรวม 221,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แอนท์กรุ๊ป ยังเป็นไอ้มดเล็กอยู่ เพราะว่ามีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้ชื่อว่า Ant Small & Micro Financial Services Group หรือ Ant Financial โดยการเกิดของบริษัทนี้ก็เพื่อที่จะสร้างความปั่นป่วน (disrupt)ให้กับระบบการเงินของจีน ด้วยการให้บริการทางการเงินที่สะดวกผ่านแอปพลิเคชัน AliPay (อาลีเพย์) ในโทรศัพท์มือถือ หรือลงทุนจากเงินออมของตัวเองโดยไม่ต้องไปหาแบงก์
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก Ant Financial เป็น Ant Group เพื่อที่จะสะท้อนภาพพจน์ว่าไม่ได้เป็นบริษัททางการเงินอย่างเดียว แต่โดยภาพรวมเป็นบริษัทเทคโนโลยี
ตอนนี้อาลีเพย์ของไอ้มดยักษ์มีผู้ใช้ประจำอยู่ 785 ล้านคนต่อเดือน และมีธุรกิจ 80 ล้านแห่ง ที่รับการชำระเงินผ่านอาลีเพย์ทำให้กลายเป็นผู้เล่นหลักที่เปรียบเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตของระบบการเงินของจีน อาลีเพย์ให้บริการผู้บริโภคในการซื้อของด้วยเครดิต ลงทุนในกองทุนรวม หรือซื้อประกันภัยบนหน้าจอของอาลีเพย์มีบริการที่หลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นช่องสำหรับการสแกนคิวอาร์โคด ซื้อตั๋วดูหนัง จ่ายค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆ จ่ายบัตรเครดิต คำนวณอัตราแลกเปลี่ยน และมีรายงานด่วน
นอกจากนี้แอปของอาลีเพย์ยังให้บริการการบริหารความมั่งคั่งให้ผู้ใช้ได้อีกด้วย โดยจะมีช่องระบุตัวเลขของทรัพย์สินทั้งหมดที่ฝากอยู่ในบัญชีของอาลีเพย์ มีรายการผลิตภัณฑ์เวลท์ แมนเนจเม้นท์ ราคาทองคำ กองทุนรวม ประกันภัย รวมทั้งดัชนีการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น รวมทั้งยังมีช่องแสดงบัญชียอดคงค้างของเครดิตของผู้ใช้
ในปี 2019 ไอ้มดยักษ์มีกำไร 18,000 ล้านหยวน หรือ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้ 120,600 ล้านหยวน แต่ใน 6 เดือนแรกของปี 2020 ปรากฎว่ากำไรของไอ้มดยักษ์พุ่งไปที่ 21,900 ล้านหยวน หรือมากกว่ากำไรของปี 2019 ทั้งปี เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนจีน หรือผู้ใช้อื่นๆ ใช้บริการผ่านอี-คอมเมิร์ซ หรือผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือมากยิ่งขึ้น
หลังจากเข้าตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ และตลาดหุ้นฮ่องกงแล้ว นักวิเคราะห์คาดว่า หุ้นของไอ้มดยักษ์แอนท์กรุ๊ปจะเทรดที่ระดับราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) 30เท่า เหมือนกับบริษัท เทนเซ็นต์ และบริษัท วีซ่า และแนวโน้มต่อไปเราจะได้เห็นบริษัทจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีเลือกที่จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ตลาดหุ้นเซินเจิ้น และตลาดหุ้นฮ่องกงมากยิ่งขึ้น แทนที่จะไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กที่กำลังมีนโยบายกีดกันบริษัทจีนตามกระแสการเมืองอเมริกาเฟิร์สของทรัมป์