โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM
กองทุนบัวหลวง
ปัจจุบันสังคมของเรากำลังถูกขับเคลื่อนโดยคนยุคมิลเลนเนียล หรือที่เรียกกันว่า Gen Y (กลุ่มคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523 – 2546) โดยคนกลุ่มนี้กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากที่สุดในตลาด ทดแทนกลุ่มคนยุค Gen X และ Baby Boomer ได้อย่างสมบูรณ์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีนี้
สำหรับประเทศไทยเรามีประชากร Gen Y อยู่ประมาณ 14.4 ล้านคน โดยที่น่ากังวลก็คือ 50% ของคน Gen Y มีภาระหนี้สิน และ 20% ของคน Gen Y มีภาระหนี้สินที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากนิสัยของคน Gen Y ที่มีความกล้าในการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อความสุข ความสะดวก และความสบาย (ประหยัดเวลา) ประกอบกับอยู่ในช่วงวัยที่มีรายได้ค่อนข้างมาก สุขภาพแข็งแรง ยังมีเรี่ยวแรงในการหาเงินและใช้จ่ายได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงช่องเทคโนโลยีเพื่อจับจ่ายใช้สอย สามารถรูดซื้อผ่านบัตรเครดิตได้ง่าย จึงทำให้คน Gen Y เน้นจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสุขในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สังคมในอนาคตกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ และมีแนวโน้มที่แรงงานคนจะถูกทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี นั่นหมายความว่า Gen Y ทุกคน ไม่ควรใช้ชีวิตอยู่บนความประมาท
จริงอยู่ที่เรามักเคยได้ยินกันว่า “จงใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน” การกังวลกับอนาคตมากเกินไปจะทำให้เป็นทุกข์ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า ทุกครั้งที่เราหลับตานอนและตื่นขึ้นมาอีกวัน ชีวิตในอนาคตก็เขยิบ
เข้ามาเป็นปัจจุบันตรงหน้า การจัดพอร์ตลงทุนเพื่อวัยเกษียณสำหรับ Gen Y จึงควรเริ่มต้นลงมือตั้งแต่ตอนนี้ โดยในเบื้องต้นอยากให้ลงมือจัดการหนี้สินให้ดีก่อน จากนั้นจึงเริ่มต้นลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง
สาเหตุที่แนะนำให้ Gen Y เริ่มต้นจัดพอร์ตลงทุนเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่ตอนนี้ เป็นเพราะช่วงวัยของพวกเรา ต้องถือว่าเป็นช่วงที่หารายได้ได้มากพอสมควร ถ้าไม่ได้ใช้จ่ายอะไรเพลิดเพลินเกินไปนัก ก็สามารถมีเงินเหลือลงทุนในแต่ละเดือนได้อย่างสบายๆ อีกทั้ง ตัวเราเองก็เคยได้รับประสบการณ์ตรงจากสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับการเงินของเรา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์แฮมเบอเกอร์ หรือไวรัสโควิด-19 ซึ่งถ้าเราไม่ลงทุนเอาไว้บ้างเลย คำถามก็คือ เรามั่นใจไหมว่าจะมีเงินใช้เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ
จากการลองคำนวณคร่าวๆ สมมติว่า เราเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี มีอายุขัยไปจนถึง 90 ปี ในช่วง 35 ปีนี้ เรากินข้าววันละ 3 มื้อ มื้อละ 100 บาท เราจะต้องมีเงินเตรียมไว้ประมาณ 3.8 ล้านบาท ดังนั้น ตัวเลขที่บอกกันว่า ถ้าอยากมีชีวิตที่สบายในวัยเกษียณต้องมีเงินประมาณ 10 ล้านบาท ก็คงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ คำถามก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ได้เงิน 10 ล้านบาท?
คำตอบที่น่าสนใจก็คงหนีไม่พ้น การใช้เครื่องมือลงทุน
การจัดพอร์ตลงทุนสำหรับ Gen Y เพื่อให้อยู่สบายตอนเกษียณ สามารถทำได้ไม่ยากด้วยการจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนรวม
ยกตัวอย่าง ผู้ลงทุนอายุ 30 ปี ไม่เคยลงทุนมาก่อน ต้องการที่จะมีเงิน 10 ล้านบาท ณ วันที่เกษียณอายุ 55 ปี สามารถลงทุน 10,000 บาทได้ทุกเดือน ผู้ลงทุนคนนี้จะต้องจัดพอร์ตลงทุนที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 8% ต่อปี ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการจัดพอร์ตลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้นไทย กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ และกองทุนรวมทองคำ โดยเน้นสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้มากหน่อยในช่วง 10 ปีแรก และค่อยๆ ลดสัดส่วนลงในช่วง 5 – 10 ปีหลัง
การจัดพอร์ตลงทุนของ Gen Y แนะนำให้เลือกกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือที่คุ้นเคยกันดีในชื่อ RMF : Retirement Mutual Fund ซึ่งต้องบอกว่า เงื่อนไขในการลงทุนกองทุนประเภท RMF นับว่าเป็นของแสลงสำหรับ Gen Y โดยเฉพาะเงื่อนไขที่บอกว่าต้องลงทุนต่อเนื่องไปจนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ให้ความรู้สึกเหมือนลงทุนชาตินี้ ได้รับเงินคืนชาติหน้ายังไงยังงั้น แต่เชื่อเถอะว่าด้วยเงื่อนไขที่ผูกพันนี่แหละ จะทำให้เราสามารถมีเงินก้อนในวัยเกษียณ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายไร้กังวล
สำหรับชาว Gen Y ที่กลัวว่าจะจำเงื่อนไขลงทุนไม่ได้ ขอให้จำไว้แค่ว่ากองทุนรวม RMF เมื่อเริ่มต้นลงทุนแล้วต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (ปีเว้นปีก็ได้) โดยไม่กำหนดขั้นต่ำในการลงทุน วิธีที่ดีที่สุดคือ ใช้บริการลงทุนอัตโนมัติแบบถัวเฉลี่ย DCA ขั้นต่ำต่อเดือน 500 บาทเท่านั้น และหากปีไหนมีเงินอยากลงทุนเพิ่มก็ค่อยซื้อเพิ่มได้ ส่วนเงื่อนไขในการขายคืนจำไว้ว่า 55-5-5 คือลงทุนต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 55 ปี เงินลงทุนก้อนแรกต้องมีอายุถือครองมากกว่า 5 ปี และสุดท้ายคือ ต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีลงทุน ซึ่งถ้าเราเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่อายุ 30 ปี ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกังวลใจ