โดย…ทนง ขันทอง
นักลงทุนที่หวังจะพึ่งพาผลตอบแทนจากตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาลต้องเริ่มปรับเปลี่ยนแนวความคิด หรือยุทธวิธีการลงทุน เพราะว่าดูแนวโน้มแล้วเงินเฟ้อจะทำให้นักลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนอะไรมาก หรือมิหนำซ้ำผลตอบแทนที่แท้จริงอาจจะติดลบก็ได้เมื่อหักเงินเฟ้อ
ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า จะกดดอกเบี้ยที่ระดับ 0% ไปอีกอย่างน้อยถึงปี 2023 โดยไม่ปรับเปลี่ยน ที่สำคัญเฟดจะปล่อยให้เงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมาย 2% โดยจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยสกัด ทั้งนี้เพื่อต้องการฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ รวมทั้งการจ้างงาน
นักลงทุนจึงจำเป็นต้องปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงไม่ให้ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ที่หลายคนเปรียบเทียบว่าเหมือนภาษีที่ถูกเรียบเก็บ ยิ่งเงินเฟ้อยิ่งสูงเท่าใด เรายิ่งจะสูญเสียอำนาจซื้อมากขึ้นเท่านั้น
สื่อ Barron’s ของสหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์บทความ Five Assets Retirement Portfolios Should Hold to Hedge Against Inflation Risks (19/9/2020) เพื่อแนะนำการบริหารพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณ โดยเน้นรับมือกับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ผ่านการลงทุนในทรัพย์สิน 5 ประเภท คือ
- หุ้นขนาดกลาง (mid-cap stocks) หรือที่เรียกกันว่าหุ้นมิดแคป จะให้ผลตอบแทนที่ถือว่าเป็นจุดเด่น เนื่องจากว่าราคามีเสถียรภาพมากกว่าหุ้นขนาดเล็ก (small-cap stocks) ที่สภาพคล่องมีน้อยกว่า นอกจากนี้ หุ้นมิดแคปส่วนมากจะมีศักยภาพในการเจริญเติบโตมากกว่าหุ้นที่มีขนาดใหญ่ (large-caps) ถ้าหากเศรษฐกิจมีการปรับเปลี่ยนจากผลกระทบของโควิด-19 หรือจากบทบาทของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น บริษัทขนาดกลางจะได้เปรียบบริษัทขนาดใหญ่ในการปรับตัวเองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญหุ้นของบริษัทขนาดกลางจะมีราคาถูกกว่าหุ้นที่มีขนาดใหญ่ ที่ถูกนักลงทุนซื้อตุนเอาไว้มากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การค่อยๆ ปรับพอร์ตเข้ามาถือหุ้นขนาดกลางจึงน่าจะเป็นยุทธวิธีที่ดีในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีในเวลานี้
- อสังหาริมทรัพย์/ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Reit) ตามปกติแล้ว การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงในเงินเฟ้อเป็นอย่างดี การลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากว่าราคาที่ดิน หรือว่าตึกจะแพงเกินไป หรือหายากสำหรับนักลงทุนโดยทั่วไป เพราะว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงในทรัพย์สินประเภทต่างๆ ผ่านกองทุน แต่การเลือกการลงทุนในทรัพย์สินอสังหาฯ ต้องมีความระมัดระวัง และมีความรอบคอบ ในขณะนี้อสังหาฯ ที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีกได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสค่อนข้างมาก
- หุ้นต่างประเทศ หุ้นต่างประเทศช่วยในการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเหมือนหุ้นของสหรัฐฯ ถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนลง ทำให้การลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ประโยชน์ เพราะว่ามูลค่าทรัพย์สินจะสูงขึ้นในแง่ของดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีชี้วัดของตลาดหุ้นโลกส่วนมากจะแยกหุ้นสหรัฐฯ กับหุ้นต่างประเทศในสัดส่วน 60% และ 40% ตามลำดับ นักลงทุนที่ไม่มีหุ้นต่างประเทศสามารถค่อยๆ ปรับพอร์ตเพื่อเพิ่มสัดส่วนในทรัพย์สินส่วนนี้ได้
- ทองคำ นักยุทธศาสตร์ส่วนมากยังคงมีความเห็นที่ผสมผสานกันในเรื่องทองคำ เนื่องจากดอกเบี้ยระยะสั้นเกือบแตะระดับ 0% และให้ผลตอบแทนติดลบเมื่อหักเงินเฟ้อไปแล้ว ทำให้การลงทุนในทองคำเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล การลงทุนในตราสารหนี้แทบที่จะไม่ให้ผลตอบแทนอะไร ถ้าหากว่าเงินปรับตัวสูงขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า และอัตราผลตอบแทน (ยิลด์) ของพันธบัตรปรับสูงขึ้น การลงทุนในทองจะมีความน่าดึงดูดน้อยลง เนื่องจากการถือครองทองคำไม่ให้ผลตอบแทน ทั้งในรูปเงินปันผล หรือดอกเบี้ย โดยทั่วไป ทองคำจะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่มีภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง ผู้ที่ลงทุนเพื่อยามเกษียณอาจจะเลือกที่จะปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อถือครองทองคำ 10%-15% ในพอร์ตเพื่อการกระจายความเสี่ยง
- เงินสด การถือครองเงินสดก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุนเพื่อยามเกษียณ โดยเงินสดที่ถือครองอาจจะมีปริมาณเทียบเท่า 2-3 ปีของการใช้จ่าย แม้ว่าถือเงินสดเฉยๆ อาจจะไม่ให้ผลตอบแทนอะไร หรือมูลค่าของเงินสดจะลดลงตามภาวะของเงินเฟ้อ แต่เงินสดจะช่วยลดแรงกดดันจากการถือครองในหุ้นในกรณีที่หุ้นมีการปรับราคาลง จะได้ไม่ต้องรีบเทขายหุ้นออกไป เพื่อนำเงินสดมาใช้ ทำให้อาจจะเสียโอกาสที่หุ้นดีดตัวกลับภายหลัง
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะนักลงทุนเพื่อยามเกษียณอายุจะออกแบบพอร์ตอย่างไร แต่ต้องมีความอดทนในระยะเวลาข้างหน้าที่ตลาดจะมีความผันผวน สูตรดั้งเดิมของการจัดพอร์ต 60% หุ้น และ 40%ตราสารหนี้ อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเหมือนอย่างในอดีต การลงทุนในลักษณะที่กระจายความเสี่ยงจากผลกระทบของเงินเฟ้อจึงเป็นทางเลือกที่น่าที่จะพิจารณา