โดย…ทนง ขันทอง
ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการประชุมใหญ่ที่กรุงปักกิ่งเพื่อถกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะครอบคลุมระยะเวลาระหว่างปี 2021 ถึงปี 2025 โดยจะมุ่งเน้นสร้างความทันสมัยให้สังคมจีนภายใต้กรอบระบบสังคมนิยมผ่านความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยี และการสร้างอุปทานภายใน (domestic supply) เพื่อว่าจีนจะสามารถพึ่งพาตัวเองโดยไม่ถูกแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก
ผู้นำจีนเล็งเห็นว่า การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกทางด้านเศรษฐกิจของจีนจะยังคงถูกกีดกันและขัดขวางจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในระยะต่อไป ทำให้จีนต้องหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ความแข็งแกร่งจากภายในจากความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยี และการสร้างอุปทานภายใน เพื่อลดแรงกดดันจากภายนอกจึงเป็นยุทธศาสตร์คู่ขนานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอีก 5 ปีข้างหน้า
ท่ามกลางสัมพันธไมตรีที่เสื่อมลงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นโยบายต่อต้านโลกาภิวัฒน์ของสหรัฐฯ การแข่งขันกันด้านเทคโนโลยีกับโลกตะวันตก และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้านภูมิรัฐศาสตร์
ทางด้านเทคโนโลยี จีนจะเร่งพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์เพื่อที่จะพึ่งพาตัวเองมากขึ้น หลังจากรัฐบาลทรัมป์ได้แซงชันไม่ให้บริษัทอเมริกันซัพพลายชิปให้กับหัวเว่ย และบริษัทเทคโนโลยอื่นๆ ของจีน
จีนยังคงตามหลังสหรัฐฯ ในด้านการพัฒนาชิป ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่เป็นหัวใจของอุปกรณ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรได้สั่งแบนไม่ให้บริษัทหัวเว่ยเข้าไปลงทุนหรือติดตั้งอุปกรณ์ 5G ในประเทศตัวเอง โดยอ้างว่า หัวเว่ยเป็นแขนขาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ด้วยเหตุนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่อาจจะมีการพูดถึงการเร่งวิจัยและพัฒนาชิป 5G รวมทั้งควอนตัมคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะให้จีนแซงหน้าโลกตะวันตกทางด้านเทคโนโลยี โดยจะมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษี และการสร้างบุคคลากรของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป ที่สำคัญ จีนต้องการพึ่งพาตัวเองมากยิ่งขึ้นทางด้านวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และการเงิน
นอกจากจะวางเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใน 5 ปีข้างหน้าแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีการวางกรอบของการพัฒนาประเทศไปจนถึงปี 2035 เพื่อว่าจีนจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกอย่างสมบูรณ์
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และอีก 5 ปีข้างหน้า สถานการณ์โดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนต้องเร่งการพัฒนาในเกือบทุกด้าน เพื่อไม่ให้ความก้าวหน้าของประเทศสะดุด เนื่องจากมหาอำนาจจากโลกตะวันตกจะไม่ยอมให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกได้ง่ายๆ ที่ผ่านมา จีนพึ่งพาการส่งออก การลงทุนจากภาครัฐ นวัตกรรม และและบริโภค แต่ความท้าทายต่อไปคือการพัฒนาภายในของจีนทั้งด้านเทคโนโลยีและการสร้างซัพพลายใหม่ๆ ต้องไปในจังหวะเดียวกับการระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่จะมีการวางแผนรับมือกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายใน และการดูแลการอพยพย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองของประชาชนจีนเพื่อหางานทำ หรือเพื่อมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จีนมีประชากร 1,400 ล้านคนจึงมีความท้าทายในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากเกินไป และต้องให้ทุกคนมีกินมีใช้
สำหรับเป้าหมายทางเศรษฐกิจแล้ว แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่อาจจะวางกรอบของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้ที่ 4.5%-5% ต่อปีระหว่างปี 2021-2025 ส่วนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2016-2020) จีนมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 6.6% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ที่ 6.5%