สภาพัฒน์ฯ ห่วงโควิด-19 ทำคนจนปี 2563 พุ่ง

สภาพัฒน์ฯ ห่วงโควิด-19 ทำคนจนปี 2563 พุ่ง

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานว่า น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำว่า แม้สัดส่วนคนจนในปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากปี 2563 ประเทศไทยประสบกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกได้

รายงานสถานการณ์ล่าสุดของ สศช. พบว่า สัดส่วนคนยากจนปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 6.24% จาก 9.85% ในปี 2561 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน จาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า

การปรับตัวลดลงของคนจนในปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในปี 2562 โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือ กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง

ทั้งนี้ ในปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนทั้งหมด 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลได้เปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (ในระหว่างช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2561) สำหรับกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน ในรอบก่อนหน้า

ผู้ที่มีบัตรฯ จะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่ วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200 – 300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้ง คนยากจนบางส่วนยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

นอกจากนี้ ในรายงาน สศช. ยังระบุว่าสัดส่วนความยากจนลดลงเกือบทุกจังหวัด และภาพรวมสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มลดลงทุกภูมิภาค โดยในปี 2562 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนน้อยที่สุด ได้แก่ นนทบุรี (0.24%) รองลงมาคือ ปทุมธานี (0.24%) ภูเก็ต (0.40%) สมุทรปราการ (0.56%) และกรุงเทพฯ (0.59%) ขณะที่ ปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด หรือมีความยากจนหนาแน่นสูง ที่ 29.72%